นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ ส.ป.ก. “ดิน น้ำ ป่า ต้องมาพร้อม แต่บูรณาการต้องมาก่อน” ณ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ บ้านท่าด่านตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ว่า ขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ประสบปัญหาความแปรปรวนทางสภาพอากาศ และปัญหาหมอกควันซึ่งเกิดจากการก่อมลพิษทางอากาศจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ท่ามกลางจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ยังอาจมีการปล่อยของเสียสู่ที่ต่าง ๆทำให้เกิดมลพิษ ส่งผลให้สภาพอากาศโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารและทรัพยากร เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำ
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสูญเสียดินที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ถางป่า ทำให้หน้าดินเปิด และถูกชะล้างได้ง่าย ทำให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลง เมื่อดินถูกทำลายจะส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ประชากรไทยจึงควรหันมาอนุรักษ์ฟื้นฟูดิน และเพิ่มทรัพยากรให้คงอยู่และมีมากขึ้น โดยน้อมนำหลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ พร้อมกับอยู่บนพื้นฐานของความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนมาปรับใช้ เพื่อช่วยโอบอุ้มดินและน้ำ ผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้มนุษย์ได้หายใจ หากประชากรช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 40 ล้านไร่ ก็จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผืนป่าสีเขียวไว้สร้างความร่มเย็นให้ประเทศได้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ ส.ป.ก. ขึ้น ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม2562 ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 70 ราย ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และประชาชน เพื่อนำเสนอกรอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการเกษตรกรรมยั่งยืนของกระทรวงเกษตรฯ และแนวทางการขับเคลื่อนงานวนเกษตรในพื้นที่ ส.ป.ก. ตลอดทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนงาน และเสนอะแนะแนวทางการทำงานร่วมกันให้บรรลุเจตนารมณ์ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ป่าของประเทศอย่างยั่งยืน
“การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มาขับเคลื่อนและต่อยอดพัฒนาพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของ ส.ป.ก. ให้มีมากขึ้น จะทำให้พื้นที่ ส.ป.ก.เกิดความมั่นคงแข็งแรงอย่างยั่งยืน และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศ โดยการจัดงานในครั้งนี้ จะทำให้กระทรวงเกษตรฯ ได้รับแนวทางการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของรากฐานสำคัญในการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ เกิดความมั่นคงทางอาหาร และระบบการจัดการพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ป่าที่ดี ส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ประชากรมีทรัพยากรใช้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องช่วยกันพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมามีชีวิต มีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งหยุดการชะล้างหน้าดิน โดยผลการระดมแนวคิดดังกล่าว จะนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่จริง และขยายผลไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของไทยต่อไป” นายวิวัฒน์ กล่าว