ชป.มั่นใจฝนตกภาคอีสาน ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ยันเขื่อนอุบลรัตน์ ใช้น้ำก้นอ่างฯ ไม่กระทบต่อความมั่นคงของตัวเขื่อน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคอีสานมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีทำให้มีน้ำบางส่วนไหลเข้าอ่างเก็บน้ำบ้างแล้ว แต่ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะส่งน้ำเพื่อการเกษตร สำหรับเขื่อนต่างๆในภาคอีสานกลาง อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 583 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุมีปริมาณน้ำประมาณ 503 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานกลาง ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธ์ มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งพบว่าอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 จำนวน 46 แห่ง แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน

สำหรับกรณีที่ปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนอุบลรัตน์ เหลือใช้เพียงประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องลดการระบายน้ำสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศ นั้น คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น (JMC) ได้ร่วมหารือถึงการนำน้ำก้นอ่างมาใช้ ตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝน เดิมคาดการณ์ว่าจะ ต้องใช้น้ำก้นอ่างมากถึง 120 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากมีการวางแผนการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้เพียง 15 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าการนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรง และความมั่นคงของตัวเขื่อนอุบลรัตน์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจจะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ดังนั้น

จึงขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ขอให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเพาะปลูกพืชตามแผนที่ทางราชการได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

*********************************
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์