กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีป้องกัน ปฏิบัติตัวหลังจากที่ได้สัมผัสสารเคมีที่รั่วไหลหรือสูดดมควันไฟ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดไฟไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสารเคมีระเบิดบนเรือขนส่งสินค้าท่าเทียบเรือเอ 2 ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 เวลาประมาณ 07.00 น. เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณหัวเรือ KMTC LINE ที่จอด ณ ท่าเทียบเรือบริษัทไทยแหลมฉบัง เทอร์มินัล จํากัด ส่งผลให้เกิดไฟลุกไหม้ มีสารเคมีรั่วไหล กระจายไปทั่วบริเวณโดยรอบท่าจอดเรือ พบมีผู้สัมผัสสารเคมีเบื้องต้น จำนวน 133 ราย และต้องนอนพักเพื่อติดตามอาการที่โรงพยาบาล จำนวน 37 ราย ที่เหลือสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการแสบร้อนบริเวณผิวหนัง ระคายเคืองตา หายใจติดขัด และอ่อนเพลีย อย่างไรก็ตาม ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ได้กลับบ้านไปแล้วควรพักผ่อน ดื่มหรือจิบน้ำเพิ่มขึ้น หากมีแผลผุพองที่ผิวหนัง ควรทำความสะอาด ระวังการติดเชื้อ ลดการใช้สายตา และสำคัญต้องประเมินสุขภาพของตนเองหรือบุคคลใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก ไอ ระคายเคืองตา ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที
“ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้และมีสารเคมีรั่วไหลออกมา ประชาชนควรตั้งสติและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) อพยพออกจากพื้นที่ทันที และอยู่เหนือลม 2) กรณีที่สัมผัสควันไฟหรือไอระเหยจากสารเคมี ให้รีบนำผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยไปยังที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ และถอดเสื้อผ้า รองเท้าที่เปื้อนออก หากผิวหนังหรือตาสัมผัสโดนไอระเหยของสารเคมี ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที และโทรเรียกรถพยาบาลหรือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 3) เมื่อออกจากพื้นที่ได้แล้ว แต่พบว่า มีคนที่ยังติดอยู่ห้ามกลับเข้าไปเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ 4) ติดตามข้อมูลสถานการณ์จากหน่วยงานภาครัฐ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และ 5) ถึงแม้เหตุการณ์ไฟไหม้จะสงบลงแล้ว ยังไม่ควรเข้าใกล้หรือสัมผัสสารเคมีในบริเวณนั้นโดยเด็ดขาด จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว