“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 23 พ.ค. 62 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 159,845 ราย เสียชีวิต 11 ราย โดยจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ระยอง และ เชียงใหม่ ตามลำดับ จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด พบว่ามีจำนวนเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งสิ้น 90 เหตุการณ์ เกิดในเรือนจำ 27 เหตุการณ์ โรงเรียน 26 เหตุการณ์ ที่พัก 19 เหตุการณ์ ค่ายทหาร 6 เหตุการณ์ และอื่นๆ 12 เหตุการณ์”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝน และจากข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย มักพบการระบาดได้ในสถานที่แออัดหรือในชุมชน สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกช่วงกลุ่มอายุ การติดต่อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากปากและการหายใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ หรือหากบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หยุดงาน พักผ่อนที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย สังเหตุอาการว่ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก เจ็บบริเวณหน้าอก ซึมสับสน หรืออาเจียนมาก หรืออาการรุนแรงอื่นๆ ควรไปพบแพทย์ สำหรับประชาชนทั่วไป แนะนำให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ หลีกเลียงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสเกิดโรครุนแรง ได้แก่ 1. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 7. โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”