รู้ยัง…เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ UCEP รักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาล
สิทธิ UCEP คืออะไร
UCEP คือ นโยบายหนึ่งของรัฐบาล โดย UCEP ย่อมาจาก Universal Coverage Emergency Patients หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ดังนั้นแม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เราไม่มีสิทธิอะไรเบิกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เราก็สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้
เนื่องจาก UCEP มีขึ้นมาเพื่อลดการเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิในการเข้าถึงการบริการอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ UCEP จะคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตแล้ว อย่างไรก็ตาม สิทธิ UCEP จะคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้นนะคะ
6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ใช้สิทธิ UCEP ได้
เกณฑ์ UCEP ที่ระบุว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” จะคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วยดังต่อไปนี้
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
อย่างไรก็ดี ประชาชนที่จะใช้สิทธิ UCEP ได้ ต้องเป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลาง
เราจะใช้สิทธิ UCEP ได้อย่างไร
ขั้นตอนในการใช้สิทธิ UCEP มีดังนี้
– ตรวจสอบสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่ตนเองมี โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ ณ โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสำนักงานเขต หรือ โทร. 1330 สายด่วน สปสช. เพื่อสอบถามสิทธิการรักษาพยาบาลของเราได้
– กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้งโรงพยาบาลรับทราบว่า ขอใช้สิทธิ UCEP
– โรงพยาบาลจะทำการประเมินอาการผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ของ UCEP ทว่าหากมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษาศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 0-2872-1669
– เมื่อโรงพยาบาลประเมินอาการผู้ป่วยแล้วจะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบ
– หากเข้าเกณฑ์ UCEP ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อพ้นภาวะวิกฤต
– ในกรณีที่ผลการประเมินไม่เข้าหลักเกณฑ์ USEP ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเองหากต้องการรักษาในโรงพยาบาลเดิมที่ตัวเองไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใด ๆ
UCEP รักษาฟรี 72 ชั่วโมงเท่านั้นหรือ
ตามเงื่อนไขของ UCEP ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนอกเครือข่ายได้ฟรีภายใน 72 ชั่วโมง โดยนับจาก สพฉ. รับผู้ป่วยเข้าระบบ UCEP แล้ว สพฉ. จะดำเนินการแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วยให้ดำเนินการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ทันภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และผู้ป่วยก็จะได้ใช้สิทธิรักษาตามที่ตนมีในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิการรักษาโดยตรง,
ส่วนในขั้นแรกที่เข้ารักษา ณ โรงพยาบาลเอกชน ภายใน 72 ชั่วโมงหรือหลังพ้นภาวะวิกฤต ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น สพฉ. จะเป็นคนดูแลให้ทั้งหมด ผู้ป่วยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นต้องเข้าเกณฑ์ 6 ข้อข้างต้นหรือแล้วแต่แพทย์และทาง สพฉ. จะประเมินอาการว่าเข้าข่ายเบิก UCEP ได้นะคะ
หากโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สามารถรับตัวไปรักษาต่อได้ ต้องทำอย่างไร
ในกรณีที่โรงพยาบาลต้นสังกัดสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเกิดความขัดข้อง ไม่สามารถรับตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อได้ เคสนี้ทางศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. จะแจ้งไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของกองทุนนั้น ๆ ต่อไป
นับเป็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ ในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและวิกฤตจริง ๆ อย่าลืมนะคะว่าเราสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ดังนั้นหากเกิดอาการเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ โทร. 1669 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เลย