หลังสิ้นสุดเวลาแจ้งครอบครอง ซึ่งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาสามารถใช้ยาในครอบครองต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน โดยจะมียากัญชาที่ผลิตอย่างมีคุณภาพใช้หลังจากนั้น แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหากเกิดเหตุขัดข้อง อย. เผยมีมาตรการเตรียมการ โดยในกรณีจัดหาวัตถุดิบกัญชาได้ประสานไปยัง ป.ป.ส. เพื่อตรวจสอบของกลางกัญชา หากมีคุณภาพจะนำกัญชาส่วนนี้มาดำเนินการผลิตยากัญชา และประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางยาพิจารณาจัดหายามาใช้ก่อนด้วยวิธีการที่เหมาะสม ยืนยันขณะนี้ไม่มีการนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มใด พร้อมสนับสนุนภาคประชาชนผลิตยาร่วมกับภาครัฐ
นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ได้สิ้นสุดระยะเวลาการแจ้งครอบครองกัญชาตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมียอดผู้แจ้งครอบครองกว่า 20,000 ราย และผู้ป่วยสามารถครอบครองกัญชาต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือนนั้น คาดว่าจะทำให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยากัญชามีผลิตภัณฑ์ใช้เพียงพอจนกว่าจะมียากัญชาที่ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายออกมา โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่กำลังดำเนินการผลิตอยู่ เช่น องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกำลังจะขออนุญาตเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้มียากัญชาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในจำนวนที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้เตรียมการรองรับหากเกิดเหตุขัดข้องใด ๆ ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน โดยกรณีของการจัดหาวัตถุดิบกัญชา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อตรวจสอบของกลางกัญชาที่ตรวจยึดได้ หรือที่มีการส่งมอบไว้ว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานเพียงพอที่จะนำมาใช้ทางการแพทย์หรือไม่ เนื่องจากกัญชาที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ จะต้องมีคุณภาพ ไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารฆ่าแมลง และมีสารสำคัญตามที่กำหนด หากสามารถใช้ได้ก็จะนำกัญชาส่วนนี้มาดำเนินการผลิตยากัญชาก่อน ซึ่งของกลางนี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ ป.ป.ส. หากหน่วยงานใดจะขอใช้สามารถแจ้งความประสงค์ไปที่ ป.ป.ส. และ อย. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปที่ผ่านมามีหน่วยงานที่ขอใช้ของกลางแล้ว ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยนเรศวร
นอกจากนี้ อย. ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางยา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม และสภากาชาดไทย เพื่อเตรียมจัดหายาให้เพียงพอในช่วงดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะได้พิจารณาดำเนินการจัดหายาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ คือ Sativex และ Epidolex นั้น อย. ในฐานะผู้พิจารณาอนุญาตการนำเข้ายา ขอยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีผู้มาขออนุญาตนำเข้าเพื่อนำมาขายในประเทศแต่อย่างใด ขอให้เชื่อมั่นว่าการดำเนินการใด ๆ เรื่องกัญชาไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จุดประสงค์สูงสุดของ อย. คือ มุ่งให้ประชาชนได้ใช้ยาจากกัญชาที่ผลิตในระบบอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ และ อย. ยังมีมาตรการสนับสนุนภาคประชาชนในประเทศให้ทำวิจัยร่วมกับภาครัฐ เพื่อนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ในท้องถิ่นสู่การใช้ประโยชน์อย่างจริงจังบนพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้าย