กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ พร้อมรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย เตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน หากไทยมีการเจรจาจัดทำ FTA กับบังกลาเทศในอนาคต
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง “ประโยชน์ ผลกระทบ และความพร้อมของไทย ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-บังกลาเทศ” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับบังกลาเทศ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับประโยชน์ ผลกระทบ ปัญหาอุปสรรค และแนวทางรองรับผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอดังกล่าว
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า กรมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของไทย และต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม จึงได้ดำเนินการจ้างศึกษาวิเคราะห์ผลประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับ ในกรณีที่ไทยจะเจรจา FTA กับบังกลาเทศในอนาคต โดยจากการสัมมนา พบว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้ไทยจัดทำ FTA กับบังกลาเทศ สำหรับสินค้าที่ภาคเอกชนให้ความสนใจและไทยมีศักยภาพส่งออกไปยังบังกลาเทศ อาทิ อาหาร อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนภาคบริการที่ภาคเอกชนให้ความสนใจและไทยมีศักยภาพ เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา และการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศแล้วหลายราย ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อาหาร วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลังงาน ซึ่งกรมฯ จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มาใช้ปรับปรุงผลการศึกษาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นายดวงอาทิตย์ เสริมว่า ไทยจำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงให้กับสินค้าและบริการของไทย เพื่อให้การค้าและการลงทุนของไทยสามารถเติบโตอย่างมั่นคง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก โดยปัจจุบันไทยได้ริเริ่มการเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว ได้แก่ ปากีสถาน และศรีลังกา ทั้งนี้ บังกลาเทศถือเป็นอีกประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาประเทศ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2561 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของบังกลาเทศขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.86 และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บังกลาเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ อาทิ ปัจจัยด้านประชากรที่มีจำนวนสูงถึง 160 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ค่าแรงต่ำ รวมถึงมีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และถ่านหิน เป็นต้น นอกจากนี้ บังกลาเทศเป็นประเทศที่นักลงทุนจากทั่วโลกให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จาก 47 ประเทศทั่วโลก
ในปี 2561 บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับที่ 39 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีมูลค่าการค้ารวม 1,255.79 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปบังกลาเทศ 1,196.55 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปูนซิเมนต์ เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เหล็ก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น และนำเข้าจากบังกลาเทศ 59.24 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น