เลขาฯ รมว.ยุติธรรม เข้าพบผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของเด็กหญิงเขมนิจ ทองอยู่ หรือน้องจีฮุน

เลขาฯ รมว.ยุติธรรม เข้าพบผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของเด็กหญิงเขมนิจ ทองอยู่ หรือน้องจีฮุน และรับเรื่องร้องเรียนการจัดซื้อกำไล EM ของกรมคุมประพฤติ

ในวันอังคารที่ 6 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าพบ พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของเด็กหญิงเขมนิจ ทองอยู่ หรือน้องจีฮุน

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤตฯ กล่าวว่า หลังจากที่มีการยื่นเรื่องมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้หาสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งมีอยู่ 2 สาเหตุ หลัก คือ การเสียชีวิตจากการฆาตกรรม และเสียชีวิตเพราะเกิดจากอาการฮีทสโตรก ดังนั้นเมื่อคุณแม่ของน้องมีความประสงค์อยากให้กระทรวงยุติธรรม แจ้งกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีพันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการผ่าพิสูจน์ ครั้งที่ 2

ซึ่งเราเห็นว่า ณ ขณะนี้ พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ อยู่ระหว่างรอผลพิสูจน์ ซึ่งท่านได้รับทราบว่ามีกรอบเวลาอยู่ประมาณ 40 วัน ซึ่งถ้ายังไม่ครบกรอบเวลาดังกล่าวในกระบวนการทางกฎหมายของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการผ่าพิสูจน์ครั้งที่ 2 ได้ เพราะว่าเรามีกฎหมายบังคับไว้ จึงพยายามหาแนวทางช่วยให้แม่ของน้องคลายความสงสัยว่าคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร

ซึ่งทางออกคือ ให้กระทรวงยุติธรรมเข้ามาดูขั้นตอนการผ่าพิสูจน์ของทางสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจว่า กระบวนการการผ่าพิสูจน์และร่องรอยการผ่าพิสูจน์ทั้งภายนอกและภายใน ได้มีการผ่าพิสูจน์ถูกต้องตามกระบวนการและมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ โดยได้ให้ นพ.ศราวุฒิ สุจริตธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวช ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ร่วมคณะสังเกตการณ์และยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่

ซึ่งการดำเนินการในส่วนที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ โดย พ.ต.อ.พญ.ณปภัช ณัฏฐสุมน แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์และแพทย์ผู้ช่วยอีก 2 ท่าน ในการผ่าพิสูจน์มีทั้งหมด 5 ข้อ ที่จะต้องดำเนินการคือ

1. บันทึกเสื้อผ้า

2. การตรวจสภาพร่างกายลักษณะภายนอก

3. การบันทึกบาดแผลภายนอกร่างกายคือการเก็บวัตถุพยานประกอบด้วย การเก็บเลือด การตรวจช่องคลอด ทวารหนัก เล็บ ชิ้นเนื้อ เพื่อยืนยันวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิต

4. อาหารในกระเพาะ

5. การผ่าพิสูจน์ภายในร่างกายทั้งหมด

ซึ่งจากที่ได้ดูกระบวนการการผ่าพิสูจน์นั้นพบว่า มีร่องรอยบางส่วนฟกช้ำบริเวณแขน และใบหน้า จึงมีคำถามทางคุณหมอว่าสาเหตุที่มีรอยฟกช้ำและเหมือนรอยขีดข่วนทั้งหลายเกิดขึ้นได้อย่างไร

นพ.ศราวุฒิ กล่าวว่า เมื่อประเมินข้อมูลการผ่าศพจากสถาบันนิติเวชในเบื้องต้น จากบาดแผลถลอก ฟกช้ำตามร่างกายพบว่า เป็นลักษณะเกิดขึ้นบริเวณตามแขน ขาเล็กน้อย มีหนังศีรษะเพียง 1 เซนติเมตร และการฟกช้ำบางจุดซึ่งสามารถเข้าได้กับบางตำแหน่งในรถ เบื้องต้นสันนิษฐานอาการของฮีทสโตรกที่ทำให้เกิดอาการทางสมองและอาการชัก อาจจะทำให้แขน ขาของตัวน้อง ฟาดไปตามสิ่งแวดล้อมในรถซึ่งจะมีบางตำแหน่งที่ค่อนข้างเข้ากับบางจุดในรถด้วย แต่ทั้งนี้เราจะไม่ได้อธิบายทุกอย่างจากการผ่าศพเพียงอย่างเดียว ข้อมูลทั้งหมดจะต้องประมวลร่วมกับข้อมูลพิสูจน์หลักฐาน หรือการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน เพื่อมาประกอบกันและสรุปเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสุดท้าย โดยการแถลงในวันนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น

“คดีนี้รอเจ้าหน้าที่ตำรวจและสถาบันนิติเวชวิทยาสรุปผล คาดว่าในวันที่ 15 กันยายน นี้ ผลจะออกอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นถ้าคุณแม่น้องยังมีความสงสัยอย่างไรและจะผ่าพิสูจน์ครั้งที่ 2 หรือไม่ ค่อยเป็นเรื่องที่จะมาตัดสินใจกันอีกครั้ง แต่ว่าในขณะนี้เราได้รับการยืนยันจากคุณแม่ว่า ถ้ากระทรวงยุติธรรมเข้ามาดูแล้ววันนี้ และไม่ปรากฏความผิดปกติของการผ่าพิสูจน์จะยึดถือเอาตามที่ได้ยื่นเรื่องไว้กับกระทรวงยุติธรรม และจะดำเนินการเรื่องการนำศพไปฌาปนกิจต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤตฯ กล่าว

ต่อจากนั้นในเวลา 13.30 น. ณ ด้านหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข (ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม) ชั้น 1 อาคารกระทรวงยุติธรรม ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤตฯ รับเรื่องจาก นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก และอดีต สว.สมบูรณ์ฯ เพื่อยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ กำไล EM ของกรมคุมประพฤติ ที่มีราคาสูงกว่าความเป็นจริง และตรวจสอบการกำหนดคุณสมบัติการจัดซื้อกำไล EM รวมถึงการจัดซื้อกำไล EM เฟส 2 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566

โดยว่าที่ร้อยตรี ธนกฤตฯ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวได้มอบหมายให้กรมคุมประพฤติชี้แจงข้อเท็จจริง และกระทรวงยุติธรรมจะตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบเรื่องข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการทุจริตฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป