วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 งานหัตถศิลป์ไทย ภายใต้การส่งเสริมและดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT นำภูมิปัญญามาพัฒนาไอเดีย รูปแบบการนำเสนอแปลกใหม่ เป็นงานอาร์ตร่วมสมัยที่ทรงพลังและน่าทึ่ง เป็นศาสตร์และศิลป์ที่รสกลมกล่อม ไปรู้จักกับผลงานหัตถศิลป์ไทยที่ถูกนำเสนอสู่สายตาชาวโลก ในงาน “Revelations 2019” ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อาทิ งานหัตถศิลป์ดั้งเดิม ประเภทงานผ้า ได้แก่
1 ผ้ามัดหมี่ลายไก่ อายุราว 80 ปี ได้จากพื้นที่อีสานตอนเหนือ ขนาด 70 × 100 cm ผ้ามัดหมี่เป็นงานหัตถกรรมที่เป็นรู้จักกันดีในภาคอีสานของไทย ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน จัดเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา สำหรับผ้ามัดหมี่ผืนนี้เป็นผ้ามัดหมี่ลายรูปสัตว์ที่เป็นที่นิยมทั่วไปในภาคอีสานตอนเหนือ มีความสนใจในแง่การใช้สีที่แม้จะเป็นสีเคมี แต่มีความงดงามละมุนตา และที่สำคัญคือมีการมัดย้อมเส้นไหมเป็นลวดลายที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง
2 ผ้าไหมกาบบัวลายไก่ ลายมัดหมี่ คั่นเส้นพุ่งพิเศษ จกลายดาวทั้งผืน จังหวัดอุบลราชธานี ขนาด 90 × 100 cmโดย นายมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2559ผ้ามัดหมี่แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดพัฒนาด้านลวดลายในงานผลิตไหมมัดหมี่ไทยยังคงรูปแบบและแนวทางดั้งเดิมไว้ แต่มีการปรับตำแหน่งจัดวางลายให้มีความน่าสนใจ และสอดแทรกเทคนิคการทอพิเศษเข้าไว้ในผืนเดียวกัน จัดเป็นงานสร้างสรรค์ในแนวประเพณีที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว
3 ผ้าปูม ลายเทพพนม สร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากโครงสร้างของผ้าปูมโบราณ แต่ประยุกต์ใช้ลวดลายผ้าลายอย่าง ย้อมเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติทั้งกระบวนการ จังหวัดสุรินทร์ ขนาด 368×100 cmโดย นายสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2559 ลวดลายผ้าหลายอย่างแบบโบราณนั้นเกิดจากการย้อมกันสี ซึ่งต้องใช้การเขียนเทียนเป็นเส้นบนผ้าฝ้าย แต่ผ้าไหมผืนนี้เกิดจากเทคนิคการมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ ด้วยทักษะความชำนาญของช่างหัตถกรรมอีสานใต้ จึงเกิดเป็นผ้าที่ดูเหมือนผ้าโบราณที่ฟื้นฟูทั้งกระบวนการย้อม และภูมิปัญญาในการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติในการผลิตในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีผลงานหัตถศิลป์ที่ถูกพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรม แรงบันดาลใจและจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัด อาทิ
4 ผลงาน “บัว”
แรงบันดาลใจ: ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากการนำบาตร ปัจจุบันในการผลิตบาตรใช้วิธีทางอุตสาหกรรมทั้งสิ้น เหลือเพียงชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงทำด้วยมือตามแบบอย่างโบราณ คือที่ชุมชนบ้านบาตร กรุงเทพฯ โดยเอกลักษณ์ของบาตรพระฝีมือของชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้คือรอยตะเข็บ 8 ชิ้นจางๆที่ปรากฏอยู่รอบบาตร มาจากพุทธประวัติ เป็นธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บเปรียบประหนึ่งการประสานบาตรของพระพุทธเจ้า ซึ่งศิลปินนำบาตรบุเป็นงานหัตถกรรมที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สะท้อนถึงจิตวิญญาณและ แรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา มาตีความใหม่โดยยังคงคุณค่าของความประณีตเป็นเอกลักษณ์ของเทคนิคการขึ้นมือ เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างใหม่ตามจินตนาการโดยลดทอนความไม่จำเป็นลง ยังคงทิ้งร่องรอยของบาตรแปดตะเข็บอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ ส่วนการทำสีใช้สีเทอร์โมโครมิก (Thermochromics) ร่วมกับผิววัสดุแบบดั้งเดิม โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิด จากทำสีเพื่อคงสภาพ เปลี่ยนเป็นเน้นการเปลี่ยนสภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่ เป็นการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมในเทคนิคใหม่ได้สอดประสานเข้ากับวิถีของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้เรื่องราวและแรงศรัทธาถูกบอกเล่าออกไปในมิติใหม่อย่างสร้างสรรค์
5 ผลงาน “ทศกัณฑ์ชีวภาพ”
ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากโขน ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ที่รวมศาสตร์และศิลป์ของไทยหลากหลายแขนง ทั้ง วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ และหัตถศิลป์ โดยมากนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ หัวโขนมักทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยวัสดุบางอย่าง เช่น กระดาษ หนัง หรือพลาสติก และใช้กรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ร่วมด้วย แต่ครั้งนี้ศิลปินออกแบบโดยใช้เซลลูโลสชีวภาพ ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อข้าว เป็นการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco design) รูปแบบ ซีโร่ เวสท์ (Zero-waste) ขึ้นรูปเป็นงานประติมากรรมสามมิติ หัวโขน “ทศกัณฑ์” จากเดิมเป็นตัวละครที่มี 10 หน้า โดยมีใบหน้าหลักอยู่ตรงกลางแล้วแทนใบหน้าที่เหลือเป็นใบหน้าเล็กๆซ้อนเป็นชั้นขึ้นไป แต่ใน“ทศกัณฑ์” ในมุมมองของศิลปินเป็นการนำเสนอใบหน้าเรียงต่อกันเป็นวงรอบศีรษะ โดยขึ้นโครงเป็นเรซิ่นแล้วใช้เส้นใยที่เกิดจากจากการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเซลลูโลสปิดทับซ้อนกันไป แสดงให้เห็นถึงมุมของวรรณคดีผสานกับวิทยาศาสตร์ เป็นการตีความองค์ความรู้ดั้งเดิมนำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัยทันโลกที่คมคายอย่างยิ่ง
6 ผลงาน “ปลาอานนท์”
ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ความเชื่อทางพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมายาวนาน ว่า “ปลาอานนท์” มีลักษณะเขี้ยวคม ดวงตาแดงกล่ำ ยามปกติปลาอานนท์นิ่งสงบ แต่การที่แบกโลกทั้งใบไว้นาน ๆ อาจจะเกิดความเมื่อยขบ เลยพลิกตัวบ้างเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ นั่นเองส่งผลทำให้เกิดแผ่นดินไหว ภัยพิบัติเหนือผิวโลกและลมฟ้าแปรปรวน ศิลปินสร้างสรรค์งานประติมากรรมไทยโดยใช้การดุนโลหะด้วยมือ เป็นเทคนิควิธีการและลวดลายแบบล้านนาซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน ใช้ความละเอียดประณีตและความเพียรพยามยามในการใช้สิ่วแบบโบราณในการตอกลายขึ้นมาทีละชิ้นอย่างใจเย็น ใช้เทคนิคการดุนลายจนเกิดเป็นร่อง มีความสูงต่ำเกิดเป็นมิติที่ชัดเจน ขณะเดียวกันลวดลายมีความความละเอียดอ่อนช้อยทำให้พลิ้วไหวดุจดั่งมีชีวิต
7 ผลงาน “จุดเริ่มต้น”
ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากดิน การสลายตัวทางกายภาพตามธรรมชาติ เป็นซากพืชซากสัตว์ทับถมเป็นผิวชั้นบนที่ห่อหุ้มโลก เป็นจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช ศิลปินจึงเกิดแรงบันดาลใจในการจำลองเหตุการณ์ธรรมชาติของดินในรูปแบบที่ถูกนำมาเล่าใหม่ ผ่านงานเบญจรงค์ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ เขียนลายโดยลงยาด้วยสีต่างๆ ทั้ง 5 เป็นตัวแทนแสดงความเป็นไทย โดยศิลปินจำลองภาพของเหตุการณ์ธรรมชาติ โดยขุดดินขึ้นมา แล้วนำมา ควัก ตัด ดึง หรือ ฉีก โดยทิ้งสภาวะของการไม่ถูกควบคุม ให้คงอยู่มากที่สุด แล้วนำมาเสริมด้วยงานเบญจรงค์ เทคนิคการเขียนสีบนเคลือบ บางชิ้นงานมีรูปทรงเกิดจากการนำภาชนะพลาสติกมากดอัดในดิน ทำให้กลายเป็นรูปทรงที่เลียนแบบฟอสซิล เป็นตัวแทนบ่งบอกถึงการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่ใช้วัสดุที่ไม่ย่อยสลายในวิถีชีวิต กลายเป็นขยะปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ จนเกิดเป็นคำถามที่ลุ่มลึกว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะช่วยกันลดปริมาณขยะและการใช้พลาสติกและวัสดุที่ไม่ย่อยสลายเหล่านี้ลงเพื่อช่วยรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่ต่อไป
8 BIO-TULIP Chair
แรงบันดาลใจ: ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Tulip Chair” เก้าอี้ที่มีรูปร่างคล้ายกับดอกทิวลิป ผลงานออกแบบของสถาปนิกและดีไซน์เนอร์ชาวฟินแลนด์ในปี 1956 ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในด้านของการออกแบบ เป็นนวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงและความฮือฮาให้กับวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยมีรูปทรงที่เป็นธรรมชาติ ล้ำสมัยแม้ว่าจะถูกออกแบบมาแล้วกว่า 60 ปี โดยเฉพาะในช่วงยุค Modern เก้าอี้ Tulip เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความร่วมสมัยที่รับรู้ได้ทันที ศิลปินได้นำเสนอผ่านการใช้วัสดุเนื้อเยื้อชีวภาพ Organic โดยใช้เทคนิคการทับซ้อน และใช้ความสามารถในการรวมตัวเป็นเนื้อเดียวในระดับ Nano เมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษของเนื้อเยื้อชีวภาพนี้ เพื่อให้เกิดเป็นผลงานอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และยังใช้การย้อมด้วยสีที่แตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป โดยใช้สีผสมอาหารในการสร้างสีสันแก่ผลงาน ทำให้ผลงานมีความเป็นธรรมชาติในทุกมิติของการนำเสนอ
ผลงานหัตถศิลป์ไทยที่นำไปจัดแสดงในครั้งนี้ ต่างได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยตลอดทั้งวันนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดี มีผู้เข้าร่วมชมจำนวนมาก และบางรายให้ความสนใจในการสั่งทำชิ้นงานหัตถศิลป์ไทยของ SACICT ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมและประสานงานไปยังผู้ผลิตต่อไป