กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองและสถานศึกษาระวังเด็กป่วย “โรคมือ เท้า ปาก” โดยเฉพาะเด็ก 1-3 ปี เน้นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองและสถานศึกษาระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก 1-3 ปี เน้นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของใช้ของเล่น ถ้าเด็กป่วยให้หยุดรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย หากมีอาการ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อชนิดรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนของประเทศไทย อากาศที่เย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆประกอบกับโรงเรียนได้เปิดเทอมแล้ว ดังนั้นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือโรคมือ เท้า ปาก

จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 พฤษภาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 11,107 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ปี รองลงมา คือ 2 ปี และ 3 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และสามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น  ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลาน เนื่องจากเด็กเล็กอาจบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองไม่ได้  วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้  1.ลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรค มือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้กระจายสู่ผู้อื่นได้  2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม  3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น  4.หากบุตรหลานป่วย ควรแยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษา ช่วยกันดูแลสังเกตอาการเด็กในความปกครองอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าบุตรหลานมีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย และควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

**************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค