วธ. ร่วมกับชาวจังหวัดบึงกาฬ เครือข่ายวัฒนธรรม เปิดงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” อย่างยิ่งใหญ่ ชมขบวนแห่ธุงพญานาคอันงดงาม
เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๕ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีบวงสรวงและพิธีเปิดการจัดงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” ระหว่างวันที่ ๒ – ๔ กันยายน ๒๕๖๕ และเยี่ยมชมการสาธิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) “ตลาดวัฒนธรรมร่วมสมัย” ทั้งตลาดบกและตลาดน้ำ กิจกรรมของดีของเด่นอำเภอ กิจกรรมสาธิตผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์จากผ้า การโชว์ควายงาม บึงกาฬ
โดยมีนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเครือข่ายวัฒนธรรมเข้าร่วม ณ บริเวณลานพญานาค (พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต) และบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทา ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
นางยุพา กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ วธ. โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย บูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทา พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต นายสุทธิพงษ์ สุริยะ นักออกแบบชื่อดัง เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ณ บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทา ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
ถือเป็นงานที่รวมเอาสองเทศกาลมารวมไว้ที่เดียว คือ เทศกาลผีตาโขนจังหวัดเลยและเทศกาลวันมาฆบูชาสักการะพระธาตุยาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ใช้ “ธุง” หลากสีสันมาประดับในงาน ซึ่งจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง มีความเชื่อเรื่องพญานาค เกิดแรงศรัทธา ทำความดี จึงนำความเชื่อนี้มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดเป็นงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” ผ่านงานวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย
ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า ภายในงานมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชนโดยรถสามล้อพ่วงข้างพญานาค การโชว์ผ้าพื้นถิ่น ชาติพันธุ์จังหวัดบึงกาฬ กิจกรรมสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) “ตลาดวัฒนธรรมร่วมสมัย” ทั้งตลาดบกและตลาดน้ำ กิจกรรมของดีของเด่นอำเภอ กิจกรรมสาธิตผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์จากผ้า การโชว์ควายงาม บึงกาฬ โดยไฮไลท์สำคัญในการจัดงาน ในวันที่ 2 กันยายน 2565 มีการจัดขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” กว่า 500 ธุง พร้อมด้วยขบวนรถสามล้อพ่วงข้างพญานาค ขบวนขันหมากเบ็ง ขบวนแห่กระติ๊บข้าว ขบวนนางรำจาก 8 ตำบล เป็นต้น
“การจัดงานครั้งนี้ มุ่งหวังให้ประชาชน เด็กเยาวชน ศิลปินร่วมสมัยและเครือข่ายในชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเอามิติวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงมาสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างค่านิยม ให้เกิดความภาคภูมิใจ มีจิตสำนึกรักและเห็นคุณค่าศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติงานวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย พร้อมกับเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีและการเสริมความมั่นคงระหว่างประเทศในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ชาวจังหวัดบึงกาฬที่ร่วมใจกันจัดงานดังกล่าวขึ้น
และขอเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยวมาร่วมชมงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” สนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ CPOT สร้างงาน สร้างรายได้ เรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีและศิลปวัฒนธรรม มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเทศกาลทางศิลปะที่รวมพลังการสร้างสรรค์จากการนำมิติวัฒนธรรมและ Soft Power ความเป็นไทย ในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน ยกระดับงานเทศกาลประเพณีของอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ”ปลัด วธ. กล่าว