วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมรับทราบแนวทางปฏิบัติการบริหารจัดการน้าฤดูฝนเตรียมการรับมือฤดูน้ำหลากปี 2562 โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมการประชุม พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัด ตัวแทนเครือข่ายจากพื้นที่ เข้าร่วมการประชุมพร้อมกัน ณ ห้องประชุมธารทิพย์ และ ห้องดงตาล อาคาร 99 ปี มล. ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยรวมปริมาณฝนในปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 – 10 % โดยจะมีฝน 40 – 60 % ของพื้นที่กับมีฝนหนักในบางแห่งโดยภาคใต้และภาคตะวันออกจะมีฝนตก 60 – 80 % ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลงอาจก่อให้เกิดฝนทิ้งช่วงจนเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะในนอกเขตชลประทาน และฝนจะตก 60 – 80 % ของพื้นที่ส่วนใหญ่ และตกหนักในบางพื้นที่โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมและกันยายน และคาดว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทา กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมและการคาดการณ์ถือเป็นหลักการสำคัญในการรับมือน้ำหลาก โดยเฉพาะการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อน ความพร้อมใช้งานอาคารชลประทาน หากพื้นที่ใดเกิดการชำรุด หรือเสียหายให้เร่งซ่อมแซม และเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือให้พร้อมปฏิบัติการ ตลอดจนกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบ และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยจะต้องรายงานข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับส่วนกลาง รวมทั้งบูรณาการการทำงานจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 อ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ปี 2562 มี 14,769 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2561 ที่มีปริมาณ 19,660 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขาดกลางและขนาดเล็กมีปริมาณน้ำใช้การได้ปี 2562 เป็น 1,595 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 129 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางสามารถรับน้ำได้อีก 35,785 ล้าน ลบ.ม. หรือเป็น 47 %
กรมชลประทานได้ดำเนินตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูน้ำหลากปี 2562 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยได้เลื่อนเวลาการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 13 ทุ่ง 1.5 ล้านไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 พร้อมทั้งได้บริหารจัดการน้ำตามพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลแต่ละพื้นที่ เพื่อการจัดสรรน้ำให้เพียงพอตามแผน
“ขอให้ทุกพื้นที่ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงทั้งในและนอกเขตชลประทาน เนื่องจากในปีนี้อาจมีฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการน้ำทั้งการส่งน้ำเพื่อเสริมน้ำฝนในช่วงฝนทิ้งช่วง ตรวจสอบเขื่อนและอาคารให้พร้อมรับทุกวิกฤติเพื่อการบรรเทาอุทกภัย และการจัดการวัชพืชทางน้ำ เพื่อรับมือช่วงฤดูน้ำหลากไปด้วยกันหลักจากผ่านพ้นหน้าแล้งมาแล้ว ขอให้ทุกส่วนร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อก้าวไปสู่ปีที่ 117 ไปพร้อมกัน เพื่อความสุขของประชาชน” ดร.ทองเปลว กล่าวย้ำในที่ประชุม