วว. / วช. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง จัดกิจกรรมปลูกป่า “90 ไร่ 9,000 ต้น” ณ พื้นที่สำนักงาน วว. กรุงเทพฯ และปริมณฑล
นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ กรรมการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 90 ไร่ 9,000 ต้น ซึ่ง วว. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดขึ้น เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ในพื้นที่ วว. จำนวน 3 แห่ง รวม 5 ไร่ ได้แก่
1. สำนักงานใหญ่ เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
2. ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย บางเขน กรุงเทพฯ
3 .ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา บางปู จ.สมุทรปราการ
มุ่งให้เกิดพื้นที่สีเขียวและต้นแบบป่านิเวศ ป่ากินได้ ป่าเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนเป้าหมายให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero Emissions โอกาสนี้ คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง วว. เข้าร่วมกิจกรรมและร่วมปลูกต้นไม้โดยพร้อมเพรียงกัน ในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงาน วว. กรุงเทพฯ และปริมณฑล
“…วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยกระดับการปลูกป่าด้วยการใช้เทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาร่วมกับการปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสภาวะการพึ่งพากับต้นไม้ชนิดที่เป็นพืชอาศัยแบบเกื้อกูลกัน และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ปัจจุบันดำเนินการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคแล้ว 2 แห่ง คือ
1.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดนครราชสีมาและเป็นป่าสาธิตการปลูกไม้เศรษฐกิจ เสริมสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนรอบสถานี
2.สถานีวิจัยลำตะคอง เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ สำหรับการปลูกไม้ยืนต้น/ไม้กินได้ เพิ่มพื้นที่และฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำในพื้นที่ใกล้ลำน้ำลำตะคอง รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตและการใช้ประโยชน์พืชพื้นเมืองและเห็ด…” กรรมการบริหาร วว. กล่าว
นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ กล่าวต่อว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการปลูกป่าในเมือง ในพื้นที่ วว. จำนวน 3 แห่ง รวม 5 ไร่ ได้แก่
1.เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
2.บางเขน กรุงเทพมหานคร
3.บางปู จังหวัดสมุทรปราการ
เพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมืองและส่งเสริมภูมิทัศน์ของสำนักงาน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุณหภูมิความร้อนในเขตเมืองกรองฝุ่นละออง ลดมลพิษ นับเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมือง ช่วยให้เกิดการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 capture) สนับสนุนเป้าหมายให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero Emissions และในอนาคต วว. จะขยายผลโครงการฯ พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ให้ครอบคลุมไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวแสดงเจตนารมณ์ว่า การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติปลูกป่า “90 ไร่ 9,000 ต้น” มุ่งให้เกิดพื้นที่ต้นแบบป่านิเวศ ป่ากินได้ ป่าเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นแบบสำหรับการสร้างป่าครัวเรือน เพื่อแหล่งอาหารและสร้างรายได้อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนองพระปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเสริมสร้างและปลูกฝังให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้
ทั้งนี้จากความสำเร็จของ วว. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกไม้เศรษฐกิจ ร่วมกับเทคโนโลยีเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว และสงขลา พบว่า การนำเห็ดไมคอร์ไรซามาใช้ประโยชน์ร่วมกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ ส่งผลให้พืชเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์มากกว่าพืชที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา 2-3 เท่า อีกทั้งเกษตรกรอละชุมชนในพื้นที่ยังได้ผลผลิตของเห็ดป่าที่เพาะร่วมกับต้นไม้ นับเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ และยังสามารถช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืน
“…การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่สำนักงานของ วว. ทั้ง 3 แห่งในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งมิติของการปลูกป่า คือ มุ่งปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ ตันกัลปพฤกษ์ และไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่ ไทรทิส ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา ในการช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืช เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุณหภูมิความร้อนในเขตเมือง กรองฝุ่นละอองและลดมลพิษ..” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว