พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ประกาศใช้แล้วลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 67 ก. วันที่ 22 พฤษภาคม 2562
สำหรับพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ 2562 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ใช้ในการยุติระงับข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และข้อพิพาททางอาญาบางประเภท มากำหนดเป็น กฎหมายกลาง โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ขึ้นในสังคมทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง ลดงบประมาณแผ่นดิน เสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข และส่งเสริมระบบยุติธรรมทางเลือกและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม อันจะทำให้ประชาชนที่มีข้อพิพาทสามารถยุติได้ด้วย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แทนการฟ้องร้องคดีต่อศาล
ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบและได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในชุมชนโดยคนในชุมชน ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างกันเองได้ ลดการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการและ ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาและเสนอความเห็นต่อมารองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) มีคำสั่งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหลักในการตรากฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการไกล่เกลี่ยและการประนอมข้อพิพาท เพื่อให้เป็นกฎหมายกลาง โดยมีการพิจารณาร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงยุติธรรมนำเรื่องนี้เสนอ กพยช. ให้ความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ต่อไป จนทำให้กฎหมายฉบับนี้ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ได้สำเร็จ