กรมชลประทาน โดยนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคอีสานมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีทำให้มีน้ำบางส่วนไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ แต่ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะส่งน้ำเพื่อการเกษตร
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 575 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 24 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 มีปริมาณน้ำไหลเข้าประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งพบว่าอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 จำนวน 46 แห่ง แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน
จากปริมาณน้ำที่เหลือน้อยของเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ต้องลดการระบายน้ำเหลือวันละประมาณ 500,000 ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมหารือถึงการนำน้ำก้นอ่างมาใช้ โดยในช่วงฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องต้นฤดูฝน คาดการว่าจะต้องใช้น้ำก้นอ่างมาใช้มากถึง 120 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากการบริหารจัดการที่ดีอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าถึงสิ้นเดือนนี้ จะนำน้ำก้นอ่างมาใช้ไม่เกิน 15 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น และมั่นใจการนำน้ำก้นอ่างมาใช้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของตัวเขื่อนอุบลรัตน์
อย่างไรก็ตามแม้ว่าช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ข่วงปลายเดือนมิถุนายน ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจจะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกษตรกรเตรียมแปลงเพาะปลูก จึงขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเ กิดขึ้น เนื่องจากน้ำที่เหลือในขณะนี้ จะเน้นเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ เท่านั้น