SACICT ประกาศศักดา “หัตถศิลป์ไทยบนความเปลี่ยนแปลงของโลก” ในงาน “Revelations 2019” เวทีแสดงศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) : SACICT นำหัตถศิลป์ไทยยุคดิจิทัลอวดสายตาชาวโลก ชูภูมิปัญญาดั้งเดิมฝีมือคนไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งคนรุ่นใหม่ ใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ผสานแรงบันดาลใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังและสุนทรียภาพ กลายเป็นงานอาร์ตระดับมาสเตอร์พีซ ในงาน Revelations 2019 ณ Grand Palais กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) หรือ SACICT ได้รับเชิญจาก Ateliers d’Art de France ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านศิลปะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลกก่อตั้งมากว่า 150 ปี และมีเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ มากกว่า 100 แห่งทั่วโลก ให้เข้าร่วมงาน Revelations 2019 ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะร่วมสมัย (Fine Art) ที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของยุโรป และนานาชาติให้การยอมรับว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของโลกงานหนึ่ง ศิลปินทั่วโลกและบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการต่างปักหมุดเข้าร่วมชมผลงานของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยกว่า 450 คนจาก 33 ประเทศ โดย SACICT และ Ateliers d’Art de France มีความร่วมมือในข้อตกลงระหว่างกัน ในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมสู่ระดับสากล

สำหรับงาน Revelations 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 พฤษภาคม 2562 ณ Grand Palais กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พีธีเปิดมีแกรนด์ดยุกอดอลฟ์แห่งลักเซมเบิร์ก เป็นประธานเปิดงาน โดยประเทศไทยได้รับคัดเลือกเข้าไปจัดแสดงในโซน The Exhibition Le Banquet ซึ่งเป็นโซนพิเศษที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นสุดยอดผลงานระดับโลก ใน 11 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ คาเมรูน แคนาดา ชิลี สเปน อินเดีย อิหร่าน ลักเซมเบิร์ก โรมาเนีย ไทย และเจ้าภาพฝรั่งเศส ซึ่งการที่ประเทศไทยโดย SACICT เป็นประเทศเดียวในอาเซียนถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจ ที่วันนี้งานหัตถศิลป์ไทยจะได้อวดโฉมปรากฏสายตาชาวโลกให้เป็นที่ประจักษ์ในความงดงามและคุณค่าจากภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานกับจินตนาการอันกว้างไกลฝีมือคนไทย
Revelations 2019 มีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่โดยแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก รวมทั้งศิลปิน สื่อมวลชน และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกร่วมงานอย่างคับคั่ง ซึ่งแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์กได้เสด็จฯเยี่ยมชมบริเวณจัดแสดงของประเทศไทย โดยทรงชื่นชมงานเบญจรงค์เป็นพิเศษ

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ยังเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญร่วมบรรยายเปิดมุมมอง “Thai Fine Art” ในงาน Symposium ร่วมกับ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ หรือ ศิลปิน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปูทางการพัฒนาศิลปะหรือหัตถกรรมร่วมสมัยของโลกให้ขับเคลื่อนและพัฒนาสู่อนาคต ผลงานหัตถศิลป์ไทยสมัยใหม่จึงต้องทั้งความสวยและยังต้องแปลกแตกต่าง องค์ประกอบที่ผ่านการคิดมาอย่างใส่ใจ ผ่านกรรมวิธีที่ทั้งยากและใช้เวลามากมายในการสร้างสรรค์ ผนวกกับแนวคิดทางศิลปะสามารถสร้างสุนทรียภาพ ความงดงามในจิตใจ เกิดความอิ่มใจและเอิบอาบในวิถีแห่งภูมิปัญญาที่ถูกนำกลับมาเติมเต็มชีวิตของผู้คนในปัจจุบันได้

นานาชาติจะได้เห็นถึงศิลปหัตถกรรมไทยบนความเปลี่ยนแปลงของโลก พัฒนาการงานหัตถศิลป์ของไทย จากเดิมเป็นของใช้ของชาวบ้าน ต่อมาภูมิปัญญาเหล่านี้ได้เกิดการพัฒนาและฝึกฝน จนเกิดเป็นงานเชิงช่างชั้นสูงที่รังสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองความเชื่อทางศาสนา และส่งเสริมบ่งบอกสถานภาพของผู้ใช้ เช่น เครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ มีความงดงามประณีตวิจิตรตระการตา เพื่อแสดงออกถึงความเคารพเทิดทูน เมื่องานช่างวิจิตรศิลป์แพร่ขยายและคลี่คลายสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้งานศิลปหัตถกรรมจำเป็นต้องปรับตัว SACICT ได้ผลักดันให้วงการหัตถศิลป์ไทยมีพัฒนาการที่สอดรับกับกระแสของประชาคมโลก ด้วยภารกิจในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือ“หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life’s Crafts” หัตถศิลป์ยุคใหม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว ผลงานหัตถศิลป์ไทยที่จัดแสดงเป็นงานฝีมือที่มาจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ทายาทศิลปหัตถกรรม และศิลปินรุ่นใหม่ผู้ชนะการประกวด SACICT Innovative Crafts Award ทั้งประเภทงานผ้า โลหะ เครื่องหนัง และเบญจรงค์

บัว Bua ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากการนำบาตร ซึ่งเป็นภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับภิกษุ สามเณร ปัจจุบันในการผลิตบาตรใช้วิธีทางอุตสาหกรรมทั้งสิ้น เหลือเพียงชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงทำด้วยมือตามแบบอย่างโบราณ คือที่ชุมชนบ้านบาตร กรุงเทพฯ โดยเอกลักษณ์ของบาตรพระฝีมือของชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้คือรอยตะเข็บ 8 ชิ้นจางๆที่ปรากฏอยู่รอบบาตรซึ่งมีที่มาจากพุทธประวัติ ศิลปินนำบาตรบุเป็นงานหัตถกรรมที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สะท้อนถึงจิตวิญญาณและ แรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา มาตีความใหม่โดยยังคงคุณค่าของความประณีตเป็นเอกลักษณ์ของเทคนิคการขึ้นมือ เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างใหม่ตามจินตนาการโดยลดทอนความไม่จำเป็นลง ยังคงทิ้งร่องรอยของบาตรแปดตะเข็บอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ ส่วนการทำสีใช้สีเทอร์โมโครมิก (Thermochromics) ร่วมกับผิววัสดุแบบดั้งเดิม โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิด จากทำสีเพื่อคงสภาพ เปลี่ยนเป็นเน้นการเปลี่ยนสภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่ เป็นการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมในเทคนิคใหม่ได้สอดประสานเข้ากับวิถีของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้เรื่องราวและแรงศรัทธาถูกบอกเล่าออกไปในมิติใหม่อย่างสร้างสรรค์

ทศกัณฑ์ชีวภาพ(Nano Bio Ravana) ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากโขน ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ที่รวมศาสตร์และศิลป์ของไทยหลากหลายแขนง ทั้ง วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ และหัตถศิลป์ โดยมากนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ หัวโขนถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูง ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยวัสดุบางอย่าง เช่น กระดาษ หนัง หรือพลาสติก และใช้กรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก โดยศิลปินนำแนวคิดหัวโขนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากทศกัณฐ์ ในรามเกียรติ์ มาพัฒนาออกแบบโดยใช้เซลลูโลสชีวภาพที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อข้าว เป็นการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco design) รูปแบบ ซีโร่ เวสท์ (Zero-waste) ขึ้นรูปเป็นงานประติมากรรมสามมิติ หัวโขน “ทศกัณฑ์” จากเดิมเป็นตัวละครที่มี 10 หน้า โดยมีใบหน้าหลักอยู่ตรงกลางแล้วแทนใบหน้าที่เหลือเป็นใบหน้าเล็กๆซ้อนเป็นชั้นขึ้นไป แต่ใน“ทศกัณฑ์” ในมุมมองของศิลปินเป็นการนำเสนอใบหน้าเรียงต่อกันเป็นวงรอบศีรษะ โดยขึ้นโครงเป็นเรซิ่นแล้วใช้เส้นใยที่เกิดจากจากการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเซลลูโลสปิดทับซ้อนกันไป แสดงให้เห็นถึงมุมของวรรณคดีผสานกับวิทยาศาสตร์ เป็นการตีความองค์ความรู้ดั้งเดิมนำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัยทันโลกที่คมคายอย่างยิ่ง

ปลาอานนท์ (Anon Fish)แรงบันดาลใจ:ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ความเชื่อทางพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมายาวนาน ว่า “ปลาอานนท์” มีลักษณะเขี้ยวคม ดวงตาแดงกล่ำ หางใหญ่พัดโบกไปมา โดยมักพบเห็นรูปปลาอานนท์ในไตรภูมิ ตามจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอาราม ในยามปกติปลาอานนท์นิ่งสงบ แต่การที่แบกโลกทั้งใบไว้นาน ๆ อาจจะเกิดความเมื่อยขบ เลยพลิกตัวบ้างเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งผลทำให้เกิดแผ่นดินไหว ภัยพิบัติเหนือผิวโลกและลมฟ้าแปรปรวน

ศิลปินสร้างสรรค์งานประติมากรรมไทยโดยใช้การดุนโลหะด้วยมือ เป็นเทคนิควิธีการและลวดลายแบบล้านนาซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ความละเอียดประณีตในการใช้สิ่วแบบโบราณในการตอกลายขึ้นมาทีละชิ้นอย่างใจเย็น ใช้เทคนิคการดุนลายจนเกิดเป็นร่อง มีความสูงต่ำเกิดเป็นมิติที่ชัดเจน ขณะเดียวกันลวดลายมีความความละเอียดอ่อนช้อยทำให้พลิ้วไหวดุจดั่งมีชีวิต เปรียบเสมือนงานศิลป์ชิ้นเอกที่สามารถปรุงรสความเชื่อ พุทธประวัติ จิตรกรรม และประติมากรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อมและแยบยล

จุดเริ่มต้น (The Beginning)

ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจาก ดิน ซึ่งเกิดจากการสลายตัวทางกายภาพตามธรรมชาติ เป็นซากพืชซากสัตว์ทับถมเป็นผิวชั้นบนที่ห่อหุ้มโลก ซึ่งดินจะมีลักษณะและคุณสมบัติแปรเปลี่ยนไปตามบริบทที่เกิดขึ้น ตามสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ วัตถุต้นกำเนิด และระยะเวลาการสร้างตัวของดิน ทำให้ถูกละเลยและมองข้ามไม่เห็นความสำคัญ ทั้งที่เป็นจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช ศิลปินจึงเกิดแรงบันดาลใจในการจำลองเหตุการณ์ธรรมชาติของดินที่ถูกนำมาเล่าใหม่ ผ่านงานเบญจรงค์ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ เขียนลายโดยลงยาด้วยสีต่างๆ ทั้ง 5 เป็นตัวแทนแสดงความเป็นไทย ศิลปินจำลองภาพของเหตุการณ์ธรรมชาติ โดยขุดดินขึ้นมา แล้วนำมา ควัก ตัด ดึง หรือ ฉีก โดยทิ้งสภาวะของการไม่ถูกควบคุม ให้คงอยู่มากที่สุด แล้วนำมาเสริมด้วยงานเบญจรงค์ เทคนิคการเขียนสีบนเคลือบ ด้วยลายเส้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติจากศิลปิน ลวดลายที่เขียนสีที่ใช้ในงานดินเผา จนกลายเป็นลวดลายที่งดงาม ทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางชิ้นงานมีรูปทรงเกิดจากการนำภาชนะพลาสติกมากดอัดในดิน ทำให้กลายเป็นรูปทรงที่เลียนแบบฟอสซิล เป็นตัวแทนบ่งบอกถึงการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่ใช้วัสดุที่ไม่ย่อยสลายในวิถีชีวิต กลายเป็นขยะปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งในอนาคตนักประวัติศาสตร์อาจขุดเจอสภาพฟอสซิลพลาสติกมากมายเหล่านี้ จนศิลปินเกิดเป็นคำถามที่ลุ่มลึกว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะช่วยกันลดปริมาณขยะและการใช้พลาสติกและวัสดุที่ไม่ย่อยสลายเหล่านี้ลงเพื่อช่วยรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่ต่อไป

BIO-TULIP Chair

ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Tulip Chair” เก้าอี้ที่มีรูปร่างคล้ายกับดอกทิวลิป ผลงานออกแบบของสถาปนิกและดีไซน์เนอร์ชาวฟินแลนด์ในปี 1956 ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในด้านของการออกแบบ เป็นนวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงและความฮือฮาให้กับวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยมีรูปทรงที่เป็นธรรมชาติ ล้ำสมัยแม้ว่าจะถูกออกแบบมาแล้วกว่า 60 ปี โดยเฉพาะในช่วงยุค Modern เก้าอี้ Tulip เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความร่วมสมัยที่รับรู้ได้ทันที ศิลปินได้นำเสนอผ่านการใช้วัสดุเนื้อเยื้อชีวภาพ Organic โดยใช้เทคนิคการทับซ้อน และใช้ความสามารถในการรวมตัวเป็นเนื้อเดียวในระดับ Nano เมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษของเนื้อเยื้อชีวภาพนี้ เพื่อให้เกิดเป็นผลงานอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และยังใช้การย้อมด้วยสีที่แตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป โดยใช้สีผสมอาหารในการสร้างสีสัน ทำให้ผลงานมีความเป็นธรรมชาติในทุกมิติของการนำเสนอ

ประเภทงานผ้า

ผ้ามัดหมี่ลายไก่ อายุราว 80 ปี ได้จากพื้นที่อีสานตอนเหนือ ขนาด 70 × 100 cm ผ้ามัดหมี๋เป็นงานหัตถกรรมที่เป็นรู้จักกันดีในภาคอีสานของไทย ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน จัดเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา สำหรับผ้ามัดหมี่ผืนนี้เป็นผ้ามัดหมี่ลายรูปสัตว์ที่เป็นที่นิยมทั่วไปในภาคอีสานตอนเหนือ มีความสนใจในแง่การใช้สีที่แม้จะเป็นสีเคมี แต่มีความงดงามละมุนตา และที่สำคัญคือมีการมัดย้อมเส้นไหมเป็นลวดลายที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง​​

ผ้าไหมกาบบัวลายไก่ ลายมัดหมี่ คั่นเส้นพุ่งพิเศษ จกลายดาวทั้งผืน จังหวัดอุบลราชธานี ขนาด 90 × 100 cmโดย นายมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2559ผ้ามัดหมี่แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดพัฒนาด้านลวดลายในงานผลิตไหมมัดหมี่ไทยยังคงรูปแบบและแนวทางดั้งเดิมไว้ แต่มีการปรับตำแหน่งจัดวางลายให้มีความน่าสนใจ และสอดแทรกเทคนิคการทอพิเศษเข้าไว้ในผืน