กรมประมง..ยันเข้มเฝ้าระวัง ควบคุม และติดตามโรคในฟาร์ม “กุ้งทะเล” อย่างใกล้ชิด พร้อมจับมือเกษตรกรสู้ทุกวิกฤต

กรมประมง..ยันเข้มเฝ้าระวัง ควบคุม และติดตามโรคในฟาร์ม “กุ้งทะเล” อย่างใกล้ชิด พร้อมจับมือเกษตรกรสู้ทุกวิกฤต…เพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมกุ้งไทยไปสู่ความยั่งยืน

 จากกรณีที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์ชะแว้ป หน้า 9 ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ได้มีการนำเสนอข่าวโดยเนื้อหาสรุปได้ว่า “กุ้งไทย” เกิดภาวะวิกฤต “ตายด่วน” และเกษตรกรถูกทอดทิ้ง นั้น

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ในช่วงปลายปี 2554 ได้สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมกุ้งทะเลเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวส่งสัญญาณในทางที่ดีขึ้น โดยในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมากรมประมงได้จับมือกับเกษตรกรในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและเข้มข้น จนสามารถแก้ไขปัญหาและลดความรุนแรงของวิกฤตโรคตายด่วนลงได้น้อยกว่าร้อยละ 10 จากเดิมที่มีมากถึงร้อยละ 30

ที่ผ่านมา กรมประมงไม่เคยทอดทิ้งเกษตรกร โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องมาโดยตลอด ด้วยการส่งเสริมการเฝ้าระวัง ควบคุม และติดตามการเกิดโรคอย่างสม่ำเสมอมีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากุ้งทะเลระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยงานกรมประมง ผู้แทนจากกลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชน ที่ประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในทุกจังหวัดที่มีการเลี้ยงกุ้งทะเล

ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาปัญหาด้านโรคกุ้งทะเลผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการออกให้บริการ “คลินิกโรคสัตว์น้ำเคลื่อนที่ (Mobile clinic)” โดยมีเจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าถึงฟาร์มเลี้ยงเพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และตอบข้อซักถามแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล  อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ลูกกุ้งที่มีสุขภาพแข็งแรงและปลอดเชื้อโรค ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกซื้อลูกกุ้งได้จากโรงอนุบาลที่มีอยู่ในบัญชี White list hatchery ของกรมประมง เนื่องจากเป็นโรงอนุบาลที่ได้ผ่านการตรวจสอบเพื่อเฝ้าระวังเชื้อก่อโรค
ที่สำคัญแล้ว

นอกจากนี้ กรมประมงยังดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 และ ปม.2 สำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปใช้ควบคุมของเสียในบ่อเลี้ยงและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่กุ้งทะเล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  พร้อมส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อใช้ควบคุมโรคในพื้นที่ตนเองได้ ซึ่งปรากฏว่าสามารถช่วยลดปัญหาการเกิดโรคได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะโรคตายด่วนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรวมถึงอาการขี้ขาวด้วย  และขณะนี้กรมประมงอยู่ในระหว่างการศึกษา วิจัย เพื่อผลิตจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ได้แก่ จุลินทรีย์ ปม.3 เพื่อพัฒนาสูตรให้ตอบโจทย์กับความต้องการของเกษตรกรในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของไทยต่อไป

ส่วนด้านการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคกุ้งนั้น  เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการต่ำกว่าปลาและสัตว์บกมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถจดจำเชื้อโรคได้ดีเท่าปลาหรือสัตว์บก จึงเป็นข้อจำกัดที่ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคกุ้งออกมาให้ใช้งานได้  แต่กรมประมงได้มีความร่วมมือทางการวิจัยกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยภายนอก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ในการพัฒนาสารชีวภัณฑ์มาใช้ในการป้องกันโรคกุ้งทะเล

เช่น สารกลุ่มเปปไทด์ต้านจุลชีพ (Antimicrobial peptide) กลุ่มของเฟจ (Phage theraphy)  เป็นต้น และ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมงยังได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล

โดยปัจจุบันกุ้งขาวแวนนาไมที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ คือ กุ้งขาวสิชล 1 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการทดลองนำไปเลี้ยงในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีและมีความต้านทานโรคตายด่วน (EMS-AHPND) ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายผลไปสู่เกษตรกรได้ในเร็ว ๆ นี้

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเกษตรกรประสบปัญหาในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล สามารถขอรับคำปรึกษาและแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ/จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด/ชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด/ทะเล ทุกแห่งทั่วประเทศ และกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2561 5412

เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/aahri หรือ Line ID : 443kvkee