นางสุรีวัลย์ ลิ้มพิพัฒนกุล รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงาน กศน. กล่าวในโอกาสได้รับมอบหมายจาก เลขาธิการ กศน. ให้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักเกณฑ์การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครู และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้สำนักงาน กศน. มีบทบาทและภารกิจหลักคือการจัดการศึกษานอกระบบ ที่มีรูปแบบการจัดกิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่มีความยืดหยุ่น มีความหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนมีวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐานเพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา และยังมีภารกิจสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่ประชาชนที่สนใจในการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคล ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้สามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดการศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่าย ครอบครัว บุคคล ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และองค์กรอื่น รวมทั้งสถานศึกษาอื่นร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย สำนักงาน กศน. จึงมีนโยบายพัฒนาระบบการวัดและประเมินการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล เพื่อยกระดับคุณค่าของการศึกษาตามอัธยาศัย ให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ มาเทียบโอนเพื่อปรับคุณวุฒิเพื่อนำไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือ เพื่อนำไปใช้การประกอบอาชีพ
นางสุรีวัลย์ กล่าวต่อไปว่าการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล ตามเป้าหมายการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณแรก ซึ่งสำนักงาน กศน. ได้จัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงระยะ 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564) ในประเด็นการปรับกระบวนการขั้นตอนการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน เรื่องการมีระบบการวัดและประเมินการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล โดยได้กำหนดแผนและเป้าหมายการดำเนินงานระยะ 3 ปี โดยในปีงบประมาณนี้ เป็นการพัฒนาหลักเกณฑ์การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ที่เกิดจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล ส่วนปีงบประมาณต่อไป จะดำเนินการพัฒนาเครื่องมือการประเมิน และพัฒนาระบบการรับรองและบริหารจัดการการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล โดยใช้ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) รวมถึงชี้แจงและอบรมการดำเนินงานดังกล่าวแก่สถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป
นพนันท์ / ข่าว