รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับประเทศญี่ปุ่น อิหร่าน และคิวบา ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 72 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมร่วมกับญี่ปุ่นจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทยในปี 2020 ช่วงต้นปี 2563
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 72 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศญี่ปุ่น อิหร่าน และคิวบา โดยจากการหารือกับนายแพทย์มาซาโยชิ ชินตานิ (H.E. Dr. Masayoshi Shintani) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยยินดีจะร่วมกับญี่ปุ่นจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทย ในปี 2020 (PMAC 2020/ UHC 2020) ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “เร่งรัดความก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” และญี่ปุ่นได้แสดงความชื่นชมไทย ในฐานะผู้ประสานงานร่วมของกระบวนการเจรจาร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูง ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะจัดในวันที่ 23 กันยายน 2562 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ได้หารือกับนายแพทย์ซาอิด นามากิ (H.E. Dr. Saeed Namaki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและแพทยศาสตร์ศึกษา สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขให้เสร็จโดยเร็ว และได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อศึกษาดูงานด้านการสาธารณสุขไทย รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี 2563
สำหรับสาธารณรัฐคิวบา ได้หารือกับนายแพทย์โจเซ่ แองเจิล พอร์ทัล มิรันดา (H.E. Dr. José Angel Portal Miranda) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐคิวบา เกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐคิวบา ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาสาธารณสุขและการวิจัยทางการแพทย์ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านสาธารณสุขมูลฐาน เทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) เพื่อหารือในรายละเอียดต่อไป