เด็กไทยห่างไกล NCDs ด้วยวิธีควบคุมอาหารและเครื่องดื่ม

รู้หรือไม่ ปัจจุบันเด็กไทยมีภาวะอ้วนและเสี่ยงเกิดโรค NCDs มากขึ้น โดยสาเหตุหลักนั่นก็คือ การบริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม ขนมขบเคี้ยว หรือแม้กระทั่งนมที่มีรสหวานก็เป็นที่มาของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กได้เช่นกัน

NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด ล้วนเกิดจากพฤติกรรมการกินตามใจปาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ซึ่งอาจจะต้องเลี่ยงบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง นมที่มีรสหวาน น้ำอัดลม หรืออาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด ที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่เด็กไทยมีภาวะเริ่มอ้วน และอ้วนจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการทำการตลาดที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“ที่ผ่านมาไทยมีการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมเทคนิคการทำการตลาด ขาดกลไกการบังคับใช้ ติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จึงร่วมกันพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผลกระทบของภาวะอ้วนในเด็ก

ส่งผลกระทบกับเด็กทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา

เด็กอ้วนจะมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กธรรมดาทั่วไป 5 เท่า

มีความเสี่ยงเกิดโรค NCDs เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น และเป็นที่มาของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กอายุ 12 ปี ที่มีดุลพินิจและความสามารถในการตีความเจตนาทางการตลาดไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ และเด็กวัยรุ่น 13-18 ปี ที่มีนิสัยหุนหันพลันแล่น ตัดสินใจเร็ว และเป็นวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อและจ่ายด้วยตัวเอง มักถูกชักจูงจากการส่งเสริมการตลาดได้ง่าย

“สสส. จึงร่วมกับ กรมอนามัย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ กว่า 100 องค์กร เร่งระดมความคิดเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปพัฒนาปรับปรุงมาตรการการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนและผลักดันมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก เพื่อสุขภาวะที่ดีในอนาคต” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็ก จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ภายใต้ข้อบังคับกฎหมายที่มีกลไกการบังคับใช้ กำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรายละเอียด 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ปกป้องและคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

2.ควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์การจำแนกอาหารมาตรฐานโภชนาการของประเทศไทย โดยสำนักโภชนาการกรมอนามัยเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำเกณฑ์ฯ

3.แนวทางการควบคุมการตลาดฯ ควรพิจารณาตามชุดข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2553 เอกสารข้อเสนอแนะของ UNICEF ประจำประเทศไทย พ.ศ. 2563 และหลักกลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาด 7 Ps ซึ่งครอบคลุมทางด้านผลิตภัณฑ์ ราคา สถานที่หรือช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด บุคคล ลักษณะทางกายภาพ และกระบวนการ ภายใต้ความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

อาหารและกลยุทธ์ทางการตลาดเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และการบริโภคต่อเด็กเป็นอย่างมาก โดยกลยุทธ์การตลาดเหล่านี้ มักมุ่งเป้าหมายไปยังเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารของเด็กไทยนั้น แสดงให้เห็นว่า ส่วนใหญ่เลือกซื้ออาหารตามความชอบ รสชาติ หรือเพียงเพราะอยากรับประทาน น้อยคนนักที่จะคำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ปกครอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือ ให้คำแนะนำแก่เด็กที่อาจถูกชักจูงจากการตลาดได้ง่าย เพื่อสนับสนุนและผลักดันมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กไทยอย่างเร่งด่วน

ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงพยายามสร้างความตระหนัก กระตุ้นให้เด็กไทยเห็นความสำคัญ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ลดการรับประทานอาหาร หวาน มัน เค็ม เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ปรับวิธีการกินแบบใหม่ โดยสูตรง่าย ๆ ด้วยรหัส 6:6:1 นั่นก็คือ ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และควรบริโภคไขมันไม่เกิน 65 กรัมต่อวัน หรือใช้น้ำมันประกอบอาหารไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน สำหรับโซเดียมนั้น ควรบริโภคไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 2,000 มิลลิกรัม) เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้เด็กไทยมีสุขภาพกายที่แข็งแรง และห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะโรค NCDs ได้อีกด้วย

สสส. และภาคีเครือข่าย มุ่งสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยกำกับดูแลให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง และปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจาการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องโดย จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ”