“อนุทิน” หารือทวิภาคี รมช.สธ.สหรัฐฯ ชื่นชม “ไทย” แก้วิกฤตโควิดได้ดี พร้อมหนุนระบบแล็บ-พัฒนาคนตามวาระความมั่นคงสุขภาพโลก GHSA

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหารือทวิภาคีร่วมกับรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข สหรัฐฯ เผยชื่นชมไทยที่บริหารจัดการวิกฤต “โควิด” ได้ดี ประชาชนให้ความร่วมมือสูง ย้ำไทยพร้อมสนับสนุน GHSA วาระความมั่นคงสุขภาพโลก ทั้งระบบแล็บและการพัฒนากำลังคน สนับสนุนฉีดวัคซีนพื้นฐานให้แก่เด็กเมียนมาตามตะเข็บชายแดนเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ยินดีสหรัฐฯ เจ้าภาพจัดประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจในปีหน้า

วันที่24 สิงหาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางแอนเดรีย ปาล์ม (Ms.Andrea Palm) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ได้หารือแบบทวิภาคี ระหว่างการจัดประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขของไทยและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

นายอนุทินกล่าวว่า ในการหารือทางสหรัฐอเมริกาได้แสดงความยินดีกับประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม APEC ในครั้งนี้ ซึ่งการหารือโต๊ะกลม หัวข้อ “การลงทุนด้านหลักประกันสุขภาพเพื่อรองรับการระบาดในอนาคต” วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ จะเข้าร่วมและเป็นผู้ร่วมอภิปรายในช่วงการสนทนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ยังได้เชิญตนเข้าร่วมประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจในปี 2566 ด้วย ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ชื่นชมประเทศไทยที่รับมือสถานการณ์โรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี ประชาชนให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง สามารถดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างเต็มที่ทั้งเรื่องของยา การดูแลแบบ Home Isolation ฮอสปิเทล ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การฉีดวัคซีนโควิด 19 และขอบคุณประเทศไทยที่ส่งข้อมูลตัวอย่างเชื้อให้แก่สหรัฐฯ ในช่วงที่เริ่มมีการระบาด ในการนำไปศึกษาวิจัยยาและวัคซีน ส่วนไทยเองก็ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือเราในช่วงวิกฤต ในการบริจาควัคซีน mRNA หลายล้านโดส สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ

นายอนุทินกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังชื่นชมบทบาทของประเทศไทยในเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะการเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) โดยไทยก็ขอบคุณสหรัฐฯ ที่แสดงการสนับสนุนการจัดตั้ง ACPHEED ซึ่งเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ภูมิภาคอาเซียน ในการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยประเทศไทยได้เตรียมการและพร้อมที่จะดำเนินการเปิดตัวสำนักเลขาธิการในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ซึ่งได้เชิญรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนและเอเปคเข้าร่วมด้วย

นายอนุทินกล่าวว่า ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ ได้ขอให้ไทยสนับสนุนโครงการของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการภายใต้คณะทำงานด้านสุขภาพเอเปค (APEC Health Working Group) รวมถึงหารือเรื่องการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda :GHSA)

ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก GHSA ตั้งแต่แรกที่มีก่อตั้งขึ้นในปี 2014 หลังการระบาดของอีโบลาในทวีปแอฟริกา โดยมีกรมควบคุมโรค ประเทศไทย เป็นประธาน Steering Group ของ GHSA ในปี 2564 ขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วม 70 ประเทศทั่วโลก สะท้อนถึงความสำคัญของ GHSA ในการทำให้โลกปลอดภัยยิ่งขึ้นจากภัยคุกคามด้านสุขภาพจากโรคติดเชื้อ ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนงานของ GHSA อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบห้องปฏิบัติการ (Lab System) และการพัฒนากำลังคน (Workforce Development) ซึ่งเป็น 2 ใน 9 ด้านของแผนงาน GHSA

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังขอให้ไทยสนับสนุนการฉีดวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคติดต่อให้แก่เด็กตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากในเมียนมาไม่ได้รับการฉีดวัคซีนพื้นฐานที่ป้องกันโรคติดต่อ เช่น วัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขไทยร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) จัดทำแผนความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับเมียนมา ซึ่งสามารถผนวกความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในประเด็นนี้ในแผนได้ โดยต้องแจ้งฝ่ายเมียนมาและกระทรวงการต่างประเทศของไทยด้วย