รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำทีมผู้เข้าร่วมประชุม APEC Health Week ศึกษาดูงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG 4 เรื่อง ทั้งศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนอย่างแม่นยำ ผลข้างเคียงน้อย, ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้า, สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และ “หมอพร้อม” ดิจิทัลแพลตฟอร์มสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหารและผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC จำนวนกว่า 80 คน เข้าศึกษาดูงาน ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประเด็นการขับเคลื่อนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในรูปแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy model : BCG) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมระหว่างการจัดประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565
นพ.สุระ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงสมาชิกของเขตเศรษฐกิจเอเปค ดังนั้น ในการประชุม APEC 2022 จึงมีการนำนโยบาย BCG มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ เพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย คำนึงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การศึกษาดูงานในวันนี้จึงได้นำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยที่มีความสอดคล้องกับนโยบาย BCG ใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นอาคารใต้ดินลึก 15 เมตร ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทางรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน นับเป็นแห่งแรกในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการรักษาจะใช้เครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอน ซึ่งจะเร่งอนุภาคโปรตอนไปทำลายก้อนมะเร็ง โดยเนื้อเยื่อปกติที่อยู่หน้าก้อนมะเร็งจะได้รับปริมาณรังสีน้อย และเนื้อเยื่อที่อยู่หลังก้อนมะเร็งแทบไม่ได้รับรังสีเลย ทำให้การรักษามีความแม่นยำสูง ช่วยลดผลข้างเคียง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น
2.ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ นับเป็นศูนย์กลางการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้การดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากอุบัติเหตุ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในสังคมได้ โดยมีผู้ป่วยส่งต่อมาจากสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ ให้การดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะหลากหลายประเภทมากกว่า 3,000 ราย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโรคงวงช้าง โดยมีเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขความพิการด้วยวิธี “จุฬาเทคนิค” และถูกนำไปใช้ทั่วโลก
3.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยอย่างครบวงจร ทั้งการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย การจัดการขณะเกิดภัย และการฟื้นฟูบูรณะสู่ภาวะปกติ บรรเทาทุกข์ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการประชานามัยพิทักษ์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มั่นคง ทัดเทียม อย่างยั่งยืน สอดคลองกับยุทธศาสตร์สภากาชาดไทยในด้านบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นเลิศครบวงจร
โดยให้บริการทางการแพทย์ผ่านทางสถานีกาชาด 13 แห่ง ให้บริการด้านรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคแก่ประชาชน อีกทั้งการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้านจักษุศัลยกรรมฯ ศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการอื่นๆ รวมถึงหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ เป็นต้น
4.หมอพร้อม แอปพลิเคชัน เป็นการพัฒนาด้านสาธารณสุขดิจิทัลที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงแรกเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชนในช่วงการระบาด ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลวัคซีนของตนเองได้ พร้อมประเมินติดตามอาการภายหลังการรับวัคซีน
โดยปัจจุบัน “หมอพร้อม” ถือว่าเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดในด้านสาธารณสุขของประเทศไทย มีประชาชนมากกว่า 32 ล้านคน เข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ทั้งแอปพลิเคชันและ Line OA และมีการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่สิ้นสุด
********************************** 24 สิงหาคม 2565