รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกล่าวถ้อยแถลง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 72 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ แสดงศักยภาพของอาเซียนในเวทีระดับโลก
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหาร นักวิชาการและผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 72 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-28 พฤษภาคม 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยในพิธีเปิดการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ภายใต้หัวข้อ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” (Universal Health Coverage :Leaving No – one Behind)
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลได้กล่าวถึง การให้ความสำคัญของรัฐบาลไทยในด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาตั้งแต่ปี 2518 เป็นการวางรากฐานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประชาชนและทุกภาคมีส่วนร่วม บริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยไทยพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้นวัตกรรมทางสังคมจากประเทศอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปด้วยกัน และในการประชุมครั้งนี้ นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้านต่างประเทศ ได้รับการเสนอชื่อจากสำนักงานองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เข้ารับรางวัล Director – General’s Health Leaders ของดร. เท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก จากผลงานโดดเด่นด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก
ในปีนี้ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหารือความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Center for Active aging and Innovation : ACAI) ที่ประเทศไทย และการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ประโยชน์จากศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันและดูแลด้านพิษวิทยา (WHO Collaborating Centre for the Prevention and Control of Poisoning) ของศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งประเทศอาเซียนได้ตกลงร่วมกันในการจัดหายาที่หายากเพื่อรักษาโรคที่พบน้อยแต่อันตรายมาก (Orphan drugs) ของอาเซียน เช่น ยาต้านพิษสำหรับพิษไซยาไนด์ พิษงู โดยให้ประเทศไทยเป็นแกนหลัก และการจัดตั้งองค์กรโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (ASEAN NCD Foundation) ซึ่งเป็นการแสดงถึงศักยภาพและความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนในเวทีระดับโลก
นอกจากนี้ ได้หารือทวิภาคีกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทย ในปี 2020 และหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง