วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ปี 2562 ถือเป็นวาระอันสำคัญที่ประเทศไทยทำหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กระทรวงคมนาคม และ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. กระทรวงพลังงาน กำหนดจัดการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network : ASCN) เตรียมต้อนรับตัวแทนเมืองอัจฉริยะนำร่อง 26 เมือง จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมประชุมสัมมนา ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2562 ที่ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ และ กำหนดแนวทางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน และมุ่งยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในอาเซียนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ได้เริ่มต้นขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 32 (32nd ASEAN Summit) เมื่อเดือนเมษายน 2561 โดยมีประเทศสิงคโปร์เป็นประธานจัดการประชุม เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน โดยมุ่งให้เกิดการดำเนินงานอย่างบูรณาการ และแบ่งปันผลสำเร็จระหว่างประเทศสมาชิก พร้อมทั้งเปิดโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยื่นควบคู่กับการสร้างขีดความสามารถด้วยการเปิดรับแนวคิดจากภาคเอกชน ที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในอาเซียนให้ดีขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ได้กำหนดให้มีการประชุมประจำทุกปี เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในแผนการดำเนินการของแต่ละเมือง การริเริ่มโครงการใหม่ และ การค้นหาแนวทางการสร้างโอกาสร่วมพัฒนากับหน่วยงานพันธมิตรภายนอกอาเซียน
ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ในฐานะประธานจัดประชุมอาเซียนของประเทศไทย ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมเครือข่ายอัจฉริยะอาเซียน ทั้ง 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ (ASCN Workshop) ในรูปแบบโต๊ะกลม ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2562 ที่ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา และ ครั้งที่ 2 เป็นการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะประจำปี (ASCN Annual Meeting) ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2562 ที่ หอประชุมจีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
“โดยการประชุมทั้ง 2 ครั้งในปีนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน แบ่งปันประสบการณ์ พัฒนาแผนการดำเนินการเฉพาะทาง และวางกรอบการทำงานสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอันเป็นเอกลักษณ์ของอาเซียน ตลอดจนการร่างขอบเขตการดำเนินการ การกำหนดเครื่องมือติดตามประเมินผล และ การส่งเสริมเครือข่ายและพันธมิตรด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ก่อนสรุปแผนการดำเนินการทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนครั้งที่ 35 (35th ASEAN Summit) ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562” ดร.ณัฐพล กล่าว
สำหรับกำหนดการของการประชุมครั้งแรกนี้นั้น ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ได้เตรียมพร้อมรับผู้ร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย National Representative : NR ตัวแทนจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิก ผู้แทนจากสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ นายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด และ หัวหน้าเมืองจาก ทั้ง 26 เมืองนำร่อง คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สำนักเลขาธิการอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานพันธมิตรด้านพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมกว่า 300 คน ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ก่อนที่จะมีพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 6 มิถุนายน 2562 โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายจะเป็นนำผู้เข้าร่วมประชุมเยี่ยมชมอาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งใหม่ ที่อาคารดีป้า ลาดพร้าว และร่วมฟังบรรยายจากหน่วยงานพันธมิตร อาทิ WeGO US IGNITE JETRO และ Bentley Systems
ส่วนการประชุมในวันที่ 7 มิถุนายน 2562 จะเน้นการฟังบรรยาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมจากวันแรก คือ ผู้นำเมืองของประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐรวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บรรยายในหัวข้อ “Towards Smart City Thailand” และตามด้วยการบรรยายและเสวนาอีกหลากหลายหัวข้อจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะชั้นนำตลอดทั้งวัน และในช่วงท้ายของการประชุมจะมีพิธีปิดโดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า
“นอกจากนี้ ด้วยบทบาทหน้าที่การผลักดันเมืองอัจฉริยะของดีป้า สำหรับการจัดการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะประจำปี ซึ่งจะมีทั้งส่วนของการประชุมสัมมนาและการจัดนิทรรศการ ได้มีการเตรียมการให้มีรูปแบบการจัดการประชุมที่ทันสมัย รวมถึงมีความตั้งใจที่จะรวบรวม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และผลสำเร็จจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของแต่ละแห่ง ในลักษณะทอล์คโชว์ ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง รวมถึงการจัดนิทรรศการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Disruption ในอนาคตอันใกล้” ผอ.ดีป้า กล่าวเสริม
ทั้งนี้ การประชุม ASEAN Smart Cities Network ภาคการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6-7 มิถุนายน 2562 นี้ ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา จะเป็นการจัดควบคู่กับงาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2019 ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการนานาชาติด้านพลังงานทดแทน จัดโดย บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานภาครัฐได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (JGSEE) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และ ภาคเอกชน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 มิถุนายน 2562
เกี่ยวกับ เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network : ASCN)
เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน หรือ ASEAN Smart Cities Network (ASCN) ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 32 (32nd ASEAN Summit) ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 – 28 เมษายน 2561 โดยมีสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นประธานในการจัดการประชุม โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ ASCN เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเมืองต่างๆ ในอาเซียน ที่จะทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน และมุ่งให้เกิดการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในอาเซียนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ASCN เริ่มต้นด้วยเครือข่ายเมืองอัจฉริยะในอาเซียนนำร่อง 26 เมือง ได้แก่ บันดาร์ เสรีเบกาวัน กรุงเทพมหานคร บันยูวังงี พระตะบอง เซบู ชลบุรี ดานัง ดาเวา จาการ์ตา ฮานอย โฮจิมินห์ ยะโฮร์บาห์รู โกตากินะบะบู กัวลาลัมเปอร์ กูซิง หลวงพระบาง มะกัสซาร์ มัณฑะเลย์ มะนิลา เนปิดอว์ พนมเปญ ภูเก็ต เสียมราฐ สิงคโปร์ เวียงจันทน์ และย่างกุ้ง