สพฉ.เปิดสถิติการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ พบในรอบ 3 ปี มีผู้สูงอายุเข้ารับบริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 141,895 ราย

เนื่องด้วยประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ในปี 2564  และจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป  เข้ารับบริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มมากขึ้น และใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มวันละกว่า 140 ครั้ง  และมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ยวันละ 2 คน

เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กล่าวว่าในรอบ 3 ปีกว่า  นับตั้งแต่ปี 2559 – 2562 (2ไตรมาส)   มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มมาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งหมด  141,895 ราย   หรือเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 29.5  จากปี 2559   โดยกลุ่มที่เข้ารับบริการทางในระบบการแพทย์ฉุกเฉินมากที่สุด คือ  กลุ่มที่มีอายุ 60-64    รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 65-69 ปี และ กลุ่มอายุ 70-74 ปี ตามลำดับ  และส่วนใหญ่ เป็นเพศชายมากกว่า เพศหญิง   แต่เมื่ออายุมากขึ้น ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะพบว่า เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  โดยเฉพาะในปี 2562 มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุพลัดตกหกล้มมาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งหมด  24,364 ราย เป็นเพศชาย 10,745 ราย และเพศหญิง 10,981 ราย  ส่วน 5 จังหวัดที่มีสถิติสูงสุด คือ  ขอนแก่น , นครราชสีมา , เชียงใหม่ , อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด

เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า   การบาดเจ็บที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหักหรือแตก  ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง  เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน เมื่อหกล้มกระดูกจึงเกิดการแตกหรือหักได้ง่าย   นอกจากนี้ยังอาจมีอาการบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ ประกอบกับผู้สูงวัย มักมีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ   และโรคหลอดเลือดสมอง จึงยิ่งทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งสาเหตุสำคัญของการพลัดตกหกล้ม คือ ตัวผู้สูงอายุเองมีความเสื่อมและการถดถอยของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด การทรงตัวไม่ดี แขนขาอ่อนแรง  หรืออาจเกิดจาก สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น พื้นและบันไดลื่น พื้นต่างระดับ  แสงสว่างไม่เพียงพอ  ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น เริ่มแรกคือต้องตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตกใจ จากนั้นให้ประเมินการบาดเจ็บ  หากไม่สามารถขยับและลุกเองได้ หรือเมื่อขยับขาแล้วรู้สึกปวดสะโพกหรือโคนขา  หรือสงสัยว่ากระดูกสะโพกหัก ให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันกระดูกที่หักไปทำลายเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และเส้นประสาทข้างเคียง  ให้รีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน  1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่หากศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว ให้นอนในท่าเดิม และรีบโทรแจ้ง 1669 ทันที ส่วนกรณีที่มีแผลเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดไว้นาน 10-15 นาที

เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ ยังเสนอแนวทางการป้องกัน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ  การป้องกันในระดับปฐมภูมิ   คือ การส่งเสริมสุขภาพ ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ เน้นผักและผลไม้ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและต้านทานโรค  นอกจากนี้ควรหมั่นออกกำลังกาย ฝึกการเดิน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ   เน้นฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหว  ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตก  หน้ามืด วิงเวียน   ส่วนการป้องกันในระดับทุตติยภูมิ วิธีการคือ  ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม  บ้านควรเป็นบ้านชั้นเดียว  กรณีบ้าน 2 ชั้น ควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง มีราวจับหรือราวพยุง  มีแสงสว่างเพียงพอ พื้นเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่ควรมีธรณีประตู  และการจัดวางสิ่งของในบ้านต้องเป็นระเบียบ ง่ายต่อการหยิบใช้  ,  ห้องน้ำควรเป็นประตูแบบเปิดออกหรือบานเลื่อน โถส้วมเป็นแบบนั่งราบหรือนั่งห้อยขา มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำสูงจากพื้น 40-45 เซนติเมตร  ,  ห้องนอน ควรอยู่ใกล้ห้องน้า เตียงหรือที่นอนมีความยาวไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตรความสูงจากพื้นถึงระดับข้อพับเข่า เพื่อให้ลุกได้สะดวก และมีพื้นที่ว่างรอบเตียงอย่างน้อย 90เซนติเมตร   และสุดท้ายคือการป้องกันในระดับตติยภูมิ   คือ  การป้องกันการหกล้มซ้ำ ต้องหมั่นให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น