กระทรวงสาธารณสุข เข้มมาตรการควบคุมโรคซิฟิลิส หลังพบแนวโน้มกลุ่มนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น กำชับสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลใกล้ชิด ประสานสถานศึกษาให้ความรู้นักเรียนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกันโรค
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากรายงานสถานการณ์ของโรคซิฟิลิส ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม-13 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วย 3,080 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 40.42 รองลงมา คือ อายุระหว่าง 25 – 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.48 เป็นสัญญาณถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยของกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน และวัยเจริญพันธุ์ เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ จึงได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงประสานสถานศึกษาให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกันโรค
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการพัฒนาระบบบริการควบคุม ป้องกัน และดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STIs) ได้แก่ การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ระบบข้อมูล ระบบติดตามประเมินผล เพิ่มคุณภาพการบริการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของโรงพยาบาล พัฒนาศักยภาพคลินิกกามโรคสำนักงานป้องกันควบคุมโรค จัดทำแผน การศึกษาวิจัย รวมถึงทบทวนและพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ขอแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งและสวมถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ต้องเข้ารับการฝากครรภ์ในระยะที่กำหนดและรับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสพร้อมสามี เพื่อป้องกันและลดโอกาสการแพร่เชื้อของโรค โดยสามารถขอข้อมูลการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ การใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี ได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์ โทร.1663 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ทั้งนี้ ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยจะทราบว่าติดเชื้อต่อเมื่อได้รับการตรวจเลือด แม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลถึงทารกในครรภ์ได้ ซึ่งปี 2562 พบเด็กแรกคลอดป่วยซิฟิลิสถึง 249 ราย อาการของโรคหลังจากได้รับเชื้อระยะแรกอาจพบแผลที่อวัยวะเพศ จากนั้นแผลจะหายและมีผื่นตามร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่อวัยวะเพศ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อจะอยู่ในร่างกายถ้าไม่ได้รับการรักษาสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติที่สมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคนี้เป็นแล้วมียารักษาให้หายขาด แต่ต้องตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง