วันที่ 11พ.ค.61 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมศ.นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี ชั้น8 โรงพยาบาลกรุงเทพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) โดยเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสพฉ. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศร่วมผลักดันบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency medical Services) ในประเทศไทยโดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU)
ทั้งนี้ การปฏิบัติการด้านการดูแลรักษาในประเทศไทยส่วนใหญ่คือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลและระหว่างโรงพยาบาลเท่าที่ผ่านมามีการปฏิบัติการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยานภายใต้โครงการ Thai Sky Doctor แต่ไม่บ่อยครั้งนัก เฮลิคอปเตอร์จะสามารถนำมาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลรักษาหรือรับจากสถานที่เกิดเหตุได้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการนำส่งทีมแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิมารักษาหรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาล
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวเสริมอีกว่า “บริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นและเข้าถึงได้ยากซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย โครงการนี้ช่วยให้เรามุ่งสู่วิสัยทัศน์การสร้างมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยการมอบการดูแลรักษาที่ทุกคนเข้าถึงได้และด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เห็นประโยชน์จากการใช้อากาศยาน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและได้ทำข้อตกลงร่วมกับหลายหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการขอใช้อากาศยาน เพื่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท วิสดอม แอร์เวย์ จำกัด และยังได้ผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อปฏิบัติงานบนอากาศยานร่วมกับสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งได้ทำการอบรมมาแล้วจำนวนกว่า 46 รุ่น โดยมีจำนวนผู้ผ่านการอบรม จำนวน 1,635 คน จากหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ และได้มีขยายหลักสูตรให้กับพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (EMT) เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยเมื่อจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายทางอากาศมากขึ้นเพื่อพัฒนาการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศให้ได้มาตรฐานสากล
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสพฉ.ได้ประสานงานพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยบิน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยในช่วงเริ่มต้นจัดให้มีพื้นที่ให้บริการในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และได้มีการขยายการบริการในภาคกลางรวมทั้งพื้นที่รอบจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในการดำเนินงานการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดจนหน่วยงานภาคีเครือข่ายสามารถปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ( กพท.) และโดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อพัฒนาการบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทยในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทางได้อย่างปลอดภัย