สรพ. ร่วมกับ 12 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือ พัฒนาระบบบริการสุขภาพของ อปท.

แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ สรพ. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การพัฒนาระบบบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม ที่จัดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน ถนนวิภาวดี แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ สมาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาควิชาการ และองค์กรอื่นๆ ซึ่งมีรายนามดังนี้ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก สถาบันพระปกเกล้า สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (โดย Thai Health ACADEMY) สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประกาศหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. และ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ในประกาศฯ ดังกล่าวกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รับการถ่ายโอนภารกิจ และจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่อกำหนดนโยบายกำกับดูแลและพัฒนางานด้านสาธารณสุขของ อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอน รวมทั้ง กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไปให้แก่ อปท.

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านกระจายอำนาจถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพไปยัง อปท. เป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ และเตรียมความพร้อม อปท. ให้สามารถดำเนินภารกิจด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานในระดับประเทศและระดับสากล สรพ. จึงร่วมกับองค์กรเครือข่าย รวมทั้งหมด 13 องค์กร จัดทำ MOU ฉบับนี้ขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญหลักๆ ในการร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้เกิดการประสานการพัฒนาระบบบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม

และทั้ง 13 หน่วยงานจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เพื่อร่วมมือกันยกระดับศักยภาพและมาตรฐานการให้บริการด้านสุขภาพของ อปท. ทั้งด้านการป้องกัน บำบัดโรค ส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การแพทย์ฉุกเฉิน และการคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนจะบูรณาการความร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีเป้าหมายหลักให้เกิดการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพที่ดี เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน

รวมไปถึงการร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ให้เกิดการกระจายภารกิจด้านสุขภาพและการบริการสาธารณะที่จำเป็นอื่น ๆ ให้แก่ อปท. บนพื้นฐานของหลักการกระจายอำนาจและการจัดการตนเองของท้องถิ่นและพื้นที่ ตลอดจนร่วมมือกันพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ อปท. และการสื่อสารสาธารณะในเรื่องการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของ อปท. โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชน สังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดีอันเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายภารกิจงานด้านสุขภาพที่จำเป็นให้แก่ อปท. และในประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง