จากสภาพอากาศร้อนและมีฝนตกเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงให้เฝ้าระวังโรคแอนแทรคโนส ที่สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น มักพบแสดงอาการของโรคบนใบ กาบใบ หรือส่วนหัว โดยเริ่มแรกพบจุดเล็กสีเขียวหม่นฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นแผลรูปกลมหรือรี เนื้อแผลยุบลงเล็กน้อย บนแผลมีหยดของเหลวสีชมพูอมส้ม เมื่อแผลแห้งจะเห็นเป็นตุ่มเล็กสีน้ำตาลดำ เรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น ถ้าแผลขยายใหญ่หรือหลายแผลมาชนกัน จะทำให้ต้นหักพับ แห้งตาย หรือเน่าตายทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลง หากแสดงอาการของโรคในระยะที่ต้นหอมยังไม่ลงหัว จะพบแสดงอาการต้นแคระแกร็น ใบบิดเป็นเกลียว ไม่ลงหัว ถ้าเป็นโรคในระยะที่ต้นหอมเริ่มลงหัว จะทำให้หัวลีบยาว บิดโค้งงอ ส่วนกาบใบที่อยู่บริเวณเหนือหัวหอม (คอหอม) มักยืดยาว มีระบบรากสั้นกว่าปกติ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต
ให้เกษตรกรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมเชื้อสาเหตุโรค ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนต้นที่พบเชื้อรานำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที จากนั้น ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง กรณีโรคยังคงระบาด ให้พ่นซ้ำทุก 5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง และควรพ่นสลับกับสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรเก็บซากพืชที่เป็นโรคทั้งหมดไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค และก่อนการปลูกหอมแดง เกษตรกรควรไถพรวนพลิกดินขึ้นมาตากแดด 2-3 แดด โดยไถให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้างในดิน และช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก จากนั้น ให้ใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพดิน และเลือกใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค โดยแช่หัวพันธุ์หรือต้นกล้าก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-20 นาที อีกทั้งในแปลงที่เคยมีการระบาดของโรครุนแรง เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชสกุลหอมและกระเทียมสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 2 ปี
******************************************************
อังคณา ว่องประสพสุข : ข่าว
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร