กรมควบคุมโรค เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุ “มู่หลาน” ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ย้ำเตือนเฝ้าระวัง ”โรคอุจจาระร่วง” ในช่วงน้ำท่วม และหลังน้ำลดระวัง “โรคฉี่หนู” แนะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
วันที่18 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในหลายพื้นที่ จากการรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 พบมีน้ำท่วมใน 13 จังหวัดประกอบด้วย เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชัยภูมิ ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ทำให้ส่งผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากน้ำท่วมขัง เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู เป็นต้น โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ โดยได้รับเชื้อผ่านกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้เข้าไป โดยผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 วัน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
ส่วนการป้องกันโรคอุจจาระร่วง ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
1.สุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ
2. ร้อน อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง
3. สะอาด เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
รวมถึงเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด และมีคุณภาพ ใช้ช้อนกลางตักอาหารเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน และไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์และพืชที่มีพิษ ที่สำคัญประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังในการกินอาหารและดื่มน้ำให้มากขึ้น รวมถึงการถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า หลังน้ำลด โรคที่ควรระวังเป็นพิเศษคือ โรคฉี่หนู ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แพะ แกะ ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำขังเล็กๆ รวมทั้งพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะ คนจะได้รับเชื้อผ่านทางบาดแผลรอยถลอก รอยขีดข่วน หรือเชื้ออาจไชผ่านผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน และจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (หลังลุยหรือแช่น้ำ 1-2 สัปดาห์) ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็วอาจเสียชีวิตได้
โดยโรคฉี่หนูสามารถป้องกันได้ ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง
2. กรณีที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม มีความจำเป็นต้องลงแช่น้ำหรือลุยน้ำให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จภารกิจ เพื่อลดระยะเวลาของการสัมผัสกับเชื้อ
3.หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่มีหนูชุกชุม
4.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการสงสัยโรคฉี่หนู ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************
ที่มา : กองโรคติดต่อทั่วไป /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 18 สิงหาคม 2565