องคมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน และติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานของโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ร่วมกับการดำเนินงานของโรงพยาบาลและสร้างความสมดุลในการดำเนินชีวิตของบุคลากร
วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดกาญจนบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล พร้อมด้วย นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการปฏิบัติงานและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานสำคัญของโรงพยาบาล พร้อมมอบของเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยที่มารับบริการ
นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามและเปิดอาคาร “ภูมิพัฒน์” เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา อาทิ แปลงสาธิตปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และมีการนำมาปรับใช้ร่วมกับการดำเนินงานของโรงพยาบาล รวมถึงให้บุคลากรของโรงพยาบาลยึดเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตให้สมดุล ส่งผลให้โรงพยาบาลได้รับการประเมินให้เป็นองค์กรคุณธรรมต้นแบบ
ในด้านการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลรักษา ได้มีการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ พชอ. ตั้งแต่ปี 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้รับเกียรติบัตรเป็น พชอ. ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ของประเทศ โดยมีการดำเนินงานทั้งด้านสังคมและสาธารณสุข ได้แก่ ด้านยาเสพติด ด้านอาหารปลอดภัย การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ด้านการจัดการขยะ ด้านอุบัติเหตุจราจร และด้านโรคติดต่อ
ซึ่งในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 โรงพยาบาลได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายบ้าน วัด โรงเรียน ดำเนินการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทั้งเชิงรุกและเชิงรับ จัดตั้งศูนย์พักคอย 15 แห่ง พร้อมจัดระบบรับ-ส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา ทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งยังให้บริการฉีดวัคซีนจำนวน 17,175 คน คิดเป็นร้อยละ 82.47
นอกจากนี้ โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติฯ ได้นำระบบ Telemedicine ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้ในการคัดกรองโรคทางตา และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกลในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โรคตา โรคผิวหนัง และพัฒนาการเด็ก
************************************ 17 สิงหาคม 2565