สธ.แนะใช้ธูปไฟฟ้า ธูปไร้ควัน ธูปสั้น บูชาพระวันวิสาขบูชา

นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ ประชาชนจะไปทำบุญไหว้พระ ถือศีล ฟังธรรม เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ มีการจุดธูปเทียน ถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันรณรงค์ลดการใช้ธูป โดยการถวายธูปไฟฟ้าสำหรับวัดใช้ในห้องปรับอากาศ และการใช้ธูปไร้ควันหรือธูปสั้นที่มีเนื้อธูปน้อย ๆ เพื่อลดปริมาณควันธูป ลดอันตรายต่อสุขภาพและมลพิษสิ่งแวดล้อมจากควันธูป  รวมทั้งขอให้หลีกเลี่ยงการจุดธูปในบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องแอร์ ห้องที่ไม่มีประตูหน้าต่าง สำหรับศาสนสถาน ควรตั้งกระถางธูปไว้ภายนอกอุโบสถ นอกอาคาร หรือในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก จัดเจ้าหน้าที่ดูแลดับควันธูป สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควันขณะปฏิบัติงาน ควรล้างมือ ล้างหน้าให้บ่อยขึ้น และไปตรวจสุขภาพประจำปี

“กลุ่มเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ถือเป็นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เกิดผลกระทบสุขภาพ จึงขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันธูป หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก เนื่องจากหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจเกิดการระคายเคืองตา ที่พบบ่อยคือ ตาแห้ง แสบตา น้ำตาไหล จาม ไอ ระคายคอ แต่หากสูดดมเป็นเวลานานและต่อเนื่องในระยะยาว จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ทั้งนี้ จากการวิจัยของนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และคณะผู้ทำการวิจัยห้องปฏิบัติการพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่า การจุดธูปในแต่ละครั้งจะเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และสารก่อมะเร็งหลายชนิดเช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ สารพาห์ (Polycyclic aromatic hydrocarbons : PAHs) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น เบนซีน รวมทั้งในขี้เถ้าธูป ยังมีสารโลหะหนัก 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว และแมงกานีส มากกว่าฝุ่นละอองในอากาศประมาณ 3 – 60 เท่า

  ***********************************  


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ