กระทรวงเกษตรฯ จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการหม่อนไหมไทยมาอย่างยาวนานทรงส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม ทรงเผยแพร่ผ้าไหมไทยและฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมไทยในทุกโอกาส ทำให้ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ามีอาชีพมีรายได้และพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน รวมทั้งทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งกรมหม่อนไหมเพื่อเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านหม่อนไหมของประเทศทั้งระบบ และให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมคงอยู่คู่ประเทศไทยสืบไปและเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมหม่อนไหมจึงได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ภายใต้เรื่อง “สืบสานภูมิปัญญา พระมารดาแห่งไหมไทย” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าว โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มหาวิทยาลัย กรมราชทัณฑ์ สำนักงานจังหวัด อบจ./อบต.บูรณาการการทำงานจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯตลอดปี 2565 เพื่อสนองและสนับสนุนงานโครงการพระราชดำริหรือพระราชกรณียกิจตามพระราชปณิธานให้คงอยู่สืบไป

ด้านนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการทั้งหมด 29 โครงการแบ่งเป็น 6 ประเภทอาทิการจัดทำวีดีทัศน์ตอน “พระมารดาแห่งไหมไทย”การจัดทำหนังสือ/เอกสารด้านหม่อนไหมในพระราชดำริครอบคลุมทั้งด้านลายผ้าอัตลักษณ์และนานาพรรณของโครงการศิลปาชีพฯ ปราชญ์หม่อนไหม ภูมิปัญญาฟอกย้อมสีเส้นไหมด้วยวัสดุธรรมชาติพันธุ์ไหมอนุรักษ์ แมลงทับ ฟืมและภูมิปัญญาการทอและลวดลายผ้าชนเผ่าบ้านซิแบร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่การทอผ้าเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่กลุ่มศิลปาชีพวัดธาตุประสิทธิ์ จ.นครพนมจ.เลย จ.มหาสารคาม จ.สระแก้ว ผ้าทอต้นแบบลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ผ้าไหมลายกาบบัวผ้าไหมหางกระรอกสีลำดวนจกดาว การฟื้นฟูภูมิปัญญาผ้าทอมือท้องถิ่นในเขตภาคเหนือและ”หม่อนไหม-ราชทัณฑ์ ร่วมใจสืบสานสายใยน้ำพระทัยสู่ผ้าทอ” การวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไหมมันสำปะหลังสระแก้ว 90 ไหมมันสำปะหลังตาก 90 ไหมมันสำปะหลังเชียงใหม่ 90-1 และ 90-2 รวมทั้งพัฒนาเครื่องตีเกลียวเส้นไหมไทยขนาดเล็ก อุบลราชธานี 90-65 การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ การแข่งขันสาวไหม ประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน สิ่งประดิษฐ์จากรังไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมซึ่งจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 งานการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่ตลาดยุคใหม่ด้านหม่อนไหม จัดไประหว่างวันที่ 4 -10 สิงหาคม 2565 และงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 ที่จะจัดในระหว่างวันที่ 24 – 28 สิงหาคม 2565 นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำป้ายและซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯการทำบุญตักบาตร การปลูกต้นหม่อนการปลูกพันธุ์ไม้ย้อมสีจิตอาสาพระราชทาน และการเชิญชวนร่วมกันสวมใส่ผ้าไหมเพื่อรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย และสนับสนุนเกษตรกรหม่อนไหม

“โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับหม่อนไหมด้านต่าง ๆ รวมทั้งลวดลายผ้าไหมอัตลักษณ์ไทยให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมให้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป”