พด. รวมพลังปลูกไม้ยืนต้น และหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พด. รวมพลังปลูกไม้ยืนต้น และหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

กรมพัฒนาที่ดิน จัดกิจกรรมปลูกไม้ยืนต้นและหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำโครงการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ร่วมแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ทำให้ประชาชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ การปลูกไม้ยืนต้นยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าและมีความสําคัญมากต่อการอนุรักษ์ดินและนํ้า ป้องกัน ภัยจากธรรมชาติอันเกิดจากนํ้าท่วมและการพังทลายของดิน รักษาระบบนิเวศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 1-12 และสถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกไม้ยืนต้นเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่เดือน มีนาคม – สิงหาคม 2565 และการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำตลอดปี โดยการปลูกหญ้าแฝกช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน จากการถูกกัดเซาะจากฝนที่ตกลงมา ทำให้แร่ธาตุและความสมบูรณ์ของดินถูกชะล้างไป

อีกทั้งมีคุณสมบัติช่วยดักตะกอนดิน และช่วยชะลอความเร็วของน้ำ ซึ่งหญ้าแฝกมีระบบรากยาว สานกันแน่น โอบดิน อุ้มน้ำ เป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ มีความคงทนสามารถอยู่ได้นานหลายปี ซึ่งการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ เป็นประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้บุคลากรของกรมฯ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการปลูกต้นไม้ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้วิชาการ และกระบวนการพัฒนาการเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถดำรงชีพอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน