กสม. เผยกรณีคนพิการถูกปฏิเสธให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

กสม. เผยกรณีคนพิการถูกปฏิเสธให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการ กสม. จับมือกรมคุ้มครองสิทธิฯ – กลต. – UNDP สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ร่วมลงนามจัดตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน”

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 28/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

1. กสม. เผยกรณีสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเลิกการแต่งตั้งคนพิการให้ดำรงตำแหน่งในองค์กร เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 อันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ กรณีสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเลิกการแต่งตั้งคนพิการให้ดำรงตำแหน่งในองค์กร ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับทุนรัฐบาลสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทำงานกับสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้ถูกร้อง)

ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามเป็นสมาชิก และผู้ร้องได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการตอบรับเข้าทำงานแล้ว โดยองค์กรผู้ถูกร้องได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564แจ้งให้พิจารณาอนุมัติให้ผู้ร้องเข้ารับตำแหน่ง แต่ต่อมาภายหลังผู้บริหารองค์กรดังกล่าวได้นัดหมายให้ผู้ร้องเข้าพบเพื่อยืนยันความพร้อมในการปฏิบัติงานและเมื่อเห็นสภาพร่างกายของผู้ร้อง ก็ได้แจ้งยกเลิกการจ้างงานในตำแหน่งที่ผู้ร้องผ่านการคัดเลือก

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม บัญญัติห้ามมิให้กระทำการเช่นว่านั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ยอมรับได้

จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุที่ผู้ถูกร้องไม่แต่งตั้งผู้ร้องให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเนื่องจากพบว่าผู้ร้องมีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว โดยผู้ถูกร้องอ้างว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติทางกายภาพตามที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติของตำแหน่งงาน ทั้งที่ไม่ได้ระบุคุณสมบัติไว้อย่างชัดแจ้งตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครว่าไม่ประสงค์ให้ผู้พิการเข้ารับการคัดเลือก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องใช้เหตุแห่งความพิการของผู้ร้องในการไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ถูกร้องจะแจ้งเหตุผลว่าตำแหน่งดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องประสานกับภาคีเครือข่าย และต้องเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา จึงตัดสินใจไม่แต่งตั้งให้ผู้ร้องดำรงตำแหน่งที่คัดเลือกไว้ พร้อมกับได้เสนองานในตำแหน่งอื่นเป็นการทดแทน แต่ กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องย่อมสามารถใช้วิธีการอื่นในการพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งงานของผู้ร้องก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและสภาพการจ้างงานผู้ร้อง

เช่น การให้ทดลองปฏิบัติงานภายในระยะเวลาที่กำหนดและประเมินผล เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถตลอดจนทักษะในการทำงานตำแหน่งนั้น ๆ แต่เมื่อผู้ถูกร้องไม่ได้กระทำการดังกล่าว และกลับใช้ดุลยพินิจตัดสินจากสภาพทางกายของผู้ร้องว่าไม่อาจปฏิบัติงานในตำแหน่งที่คัดเลือกเข้ามาได้ จนนำไปสู่การถอนข้อเสนองานในเวลาต่อมา การกระทำของผู้ถูกร้องเช่นนี้ จึงเป็นการตอกย้ำในเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการของบุคคลและไม่มีเหตุผลอันสมควรซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้ถูกร้อง) กระทรวงศึกษาธิการ และสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปได้ ดังนี้

1) ให้สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดมาตรการในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องตามสมควร โดยอย่างน้อยจะต้องมีการขอโทษผู้ร้องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอบสวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใต้กฎระเบียบของผู้ถูกร้อง รวมถึงการชดเชยเป็นค่าเสียหายจากการที่ผู้ร้องไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ผ่านการคัดเลือก

2) ให้สภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายของผู้ถูกร้องนำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ไปใช้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้อีก

3) ให้กระทรวงศึกษาธิการแจ้งองค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้จัดทำข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในกรณีจะต้องมีการประชาสัมพันธ์การรับสมัครบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรนั้น ๆ โดยจะต้องมิให้กำหนดเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังเช่นกรณีตามคำร้องนี้อีก ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้

2. กสม. จับมือกรมคุ้มครองสิทธิฯ – กลต. – UNDP สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก จัดตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการ
ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่4 สิงหาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme – UNDP) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการก่อตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (Business and Human Rights Academy : BHR Academy) ณ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ชั้น 31 อาคาร AIA Capital Center ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

การลงนามในบันทึกความตกลงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน อันมีกรอบในการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง5 องค์กร สรุปได้ดังนี้

1) ส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

2) จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

3) ประสานงานในการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งเสริม เผยแพร่องค์ความรู้ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ บันทึกความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 2 ปี และให้ถือว่ามีการขยายระยะเวลาออกไปอีกคราวละ 1 ปี จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

เลขาธิการ กสม. กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGPs) เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญผลักดันอย่างต่อเนื่องโดยที่ผ่านมา กสม. ได้ขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการ UNGPs ในประเทศไทย และได้จัดทำบันทึกความตกลงร่วมกับ กลต. เพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตระหนักถึงการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเคารพสิทธิมนุษยชน

พร้อมทั้งได้จัดทำข้อเสนอแนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเสนอไปยังรัฐบาล กระทั่งประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) เป็นประเทศแรกในเอเชียเมื่อปลายปี 2562

“การร่วมกันจัดตั้งสถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ BHR Academy ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าเชิงรูปธรรมในการสนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนได้มีความรู้ความเข้าใจและมีแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สามารถประเมินความเสี่ยงและลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจเองและสังคมโดยรวม อันสอดคล้องและเป็นไปตามหลักการ UNGPs ที่ กสม. ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการอบรมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ กสม. กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
11 สิงหาคม 2565