เรื่องใจเรื่องใหญ่

ทุกวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของทุกคน หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้น เกิดความท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ ซึ่งถ้าเราปล่อยให้ความรู้สึกเช่นนี้อยู่กับเรานานเกินไป ก็อาจเกิดความเครียดสะสม กลายเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้

ภารกิจสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจเป็นสิ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงได้จัดกิจกรรม ThaiHealth Watch 2022 The Series ในหัวข้อ เรื่องใจเรื่องใหญ่ เปิดพื้นที่แชร์ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอารมณ์ แนะแนวทางป้องกันและดูแลตนเอง มุ่งเสริมภูมิคุ้มใจ ฟื้นฟูภาวะเครียดสะสมของคนไทยให้ดีขึ้น

“ต้องยอมรับว่าจิตใจเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ เพราะช่วยทำให้เรามีพละกำลัง มีการจัดการชีวิตที่มีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความหวัง หากรู้สึกเครียดเรื้อรังจึงไม่ควรละเลย เพราะอาจพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิต” เป็นมุมมองของนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

นายชาติวุฒิ เล่าว่า เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตของโรคโควิด-19 มาหลายปี เกิดความรู้สึกไม่แน่นอน กังวลใจ รู้สึกรุกรานตัวเราเป็นอย่างมาก ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทั้งการเรียน การทำงานจากที่บ้าน ไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง มีข่าวผู้เสียชีวิตรายวัน เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายคนถูกตัดเงินเดือน ถูกให้ออกจากงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดความเครียดสะสมของคนไทย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่โรคทางใจ และปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น

ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เล่าต่อว่า เราจะต้องเร่งจัดการให้ใจมีวัคซีน หาสมดุลชีวิต สามารถจัดการชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยสามารถนำหลักการในเรื่องทุนจิตวิทยาเชิงบวก มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา คือ

1. การใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความหวัง เราสามารถตื่นขึ้นมาพร้อมความหวังในการจัดการชีวิตได้

2. การมองโลกในแง่ดี ทำให้ทุกย่างก้าวของชีวิตมีความสดใสและสดชื่น

3. ความยืดหยุ่นในการกลับสู่ภาวะปกติ ล้มแล้วลุกไว มีความอึดฮึดสู้ สามารถก้าวข้ามวันที่ไม่มีความสุข

4. ความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง คิดเสมอว่าเรามีความสามารถที่จะผ่านเรื่องนี้ไปได้

ดังนั้น จิตวิทยาเชิงบวกทั้ง 4 ข้อ จึงถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ที่มีความสุขได้” นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า ในชีวิตประจำวันสามารถมีความเครียดเกิดขึ้นได้ แต่ในกรณีของโรคความเครียดสะสม เป็นความเครียดบางอย่างที่อยู่กับเรานาน ๆ แล้วไม่หายไป และยังคงมีเรื่องเครียดทับถมอยู่เรื่อย ๆ ไม่สามารถจัดการได้ เราต้องพยายามหาทางแก้ไขโดยเร็ว

โดยให้สังเกตว่ามีอาการต่อไปนี้หรือไม่

1.หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง

2.ประสิทธิภาพในการทำงาน และการใช้ชีวิตลดลง

3.ไม่อยากเข้าสังคม วิตกกังวลความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว

4.กลัว เครียด กังวล อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

5.เบื่อ เฉยชา รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า

6.พฤติกรรมการกินผิดปกติ

7.ดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น หรือสูบบุหรี่

8.สมาธิจดจ่อไม่ดี หลง ๆ ลืม ๆ

9.ท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่

ผศ.ดร.ณัฐสุดา พูดต่อด้วยว่า ขณะเดียวกันเรายังสามารถรู้ทันความเครียดได้ ด้วยการทำแบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต โดยจะมีอยู่เกณฑ์อยู่ 4 ระดับ คือ สีเขียว เครียดแต่เอาอยู่ คือ แม้ทุกคนมีความเครียด แต่ยังพอรับมือได้ด้วยตัวเอง สีเหลือง เครียดจัด ยังพอประคับประคองไปได้ คือ อยู่ระหว่างป่วยกับปกติเครียดสูง แต่ยังประคับประคองตัวได้ เป็นฟางเส้นสุดท้าย สีส้ม ซึมเศร้า กระทบงานและการใช้ชีวิต คือ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีปัญหาปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และสีแดง ซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย คือ ภาวะความเสี่ยงทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น สิ่งของ และคิดฆ่าตัวตาย

ขณะที่ 3 จุดสังเกต เช็กง่าย ๆ ดูว่าเรากำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตอยู่หรือเปล่า

1.ความคิด เกิดความคิดเชิงลบในชีวิตประจำวัน หรือ ความคิดว่าเราไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วหรือเปล่า จากปกติที่ไม่เคยคิดมาก่อน

2.พฤติกรรม ดูว่าเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ เช่น นอนไม่หลับโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยขึ้นมากะทันหัน

3.อารมณ์และความรู้สึก อารมณ์แปรปรวนง่าย ไม่สามารถควบคุมความเศร้า หรือความโกรธที่มากเกินไปของตัวเองได้

ดังนั้น การขอความช่วยเหลือในช่องทางต่าง ๆ หรือคำปรึกษามีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้เราคัดกรองตัวเองได้เร็วขึ้น เข้าถึงปัญหาเร็วขึ้น และได้รับคำแนะนำในการปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงอารมณ์ด้านลบ และพฤติกรรมต่าง ๆ ทันท่วงที

สสส. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาโครงการ Here to Heal ขึ้นเพื่อให้ผู้มีอาการด้านสุขภาพจิตสามารถปรึกษาผ่านนวัตกรรมออนไลน์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Here to Heal ที่สามารถพูดคุยทางแชทได้สะดวก รวดเร็ว โดยให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลา 10.00-22.00 น.

สอดคล้องกับ นางสาววิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิทยากร Podcast Life’s Classroom ที่อธิบายว่า เวลาเกิดปัญหาขึ้น ยังไม่ต้องรีบคิดบวกเพื่อจัดการปัญหาในทันที เพราะสถานการณ์อาจจะแย่กว่าเดิม แต่ให้เยียวยาอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ณ เวลานั้นก่อน เช่น เรากำลังรู้สึกโกรธ เศร้าหรือว่ากำลังเสียใจ ให้หาทางระบายความรู้สึกนั้นออกมาก่อน พร้อมถามตัวเองว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ มองปัญหาให้ครบทุกมุมของสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะวิธีการมองโลกของเราเป็นส่วนสำคัญของความสุข

5 เคล็ดลับสร้างพลังใจด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวัน ประกอบด้วย

1.ออกกำลังกายทุกวัน วันละ 15 นาที ทำทุกวัน

2.พูดขอบคุณในสิ่งดี ๆ ของผู้อื่น เช่น พูดต่อหน้า หรือในใจ ส่งโปสการ์ด ส่งข้อความ เป็นต้น

3.เขียนขอบคุณอะไรก็ได้ 3 สิ่งก่อนนอน ทำทุกวันและห้ามเขียนซ้ำกัน

4.คิดถึงสิ่งที่มีความสุข วันละ 3 สิ่ง ทำทุกวันและห้ามเขียนซ้ำกัน

5.ทำสมาธิวันละ 2 นาที ด้วยวิธีการดูลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ

สภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง และมีความมั่นใจในการเอาชนะปัญหาอุปสรรคทั้งหลาย สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในคนทุกคน ขอเพียงเปลี่ยนมุมมองและเริ่มต้นที่ตัวเราเอง สสส. ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนยืนหยัดลุกขึ้นสู้ทุกวิกฤตปัญหา และดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวทีเสวนา ThaiHealth Watch 2022 The Series หัวข้อ “เรื่องใจเรื่องใหญ่”