ร่วมสร้างทางม้าลายปลอดภัย ตำรวจจราจรไทยร่วมดูแล

แม้เหตุการณ์ความสูญเสียที่เป็นอุทาหรณ์ครั้งใหญ่ของสังคมไทยอย่างกรณีการเกิดอุบัติเหตุของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ถูกรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบก์ชนขณะข้ามถนนบนทางม้าลายจะผ่านไปนานหลายเดือนแล้ว แต่เรื่องของความปลอดภัยบนทางม้าลายของคนข้ามถนนก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องย้ำเตือน และสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้นั้น นอกจากการปฏิบัติตามกฎจราจร และความระมัดระวังของผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่คงจะไม่กล่าวถึงไม่ได้ อย่างผู้ที่คอยอำนวยความสะดวก และควบคุมรักษากฎการใช้รถใช้ถนนอย่าง ‘ตำรวจจราจร’

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 6 “ก้าวเดินอย่างปลอดภัยบนทางม้าลาย ตำรวจจราจรไทยร่วมดูแล” โดยความร่วมมือของคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภากาชาดไทย สำนักงานเขตปทุมวัน และภาคีเครือข่าย เพื่อสื่อสารสร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่ประชาชน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลาย ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยก-ทางข้าม

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. เล่าถึงภาพรวมของสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนว่า จากการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องในทุกเดือนที่ผ่านมา พบว่า มีผู้สูญเสียจากกการข้ามทางม้าลายน้อยลง และคนหยุดรถให้คนข้ามถนนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่การรณรงค์เน้นย้ำสร้างความตระหนักก็ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะจากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทยปี 2561-2564 พบว่า “คนเดินเท้า” ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และเสียชีวิตบนท้องถนนมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยมีจำนวนผู้สูญเสียเกิดขึ้นอย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 7 ราย

“ข้อมูลจากกรมทางหลวงปี 2564 ยังพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 65% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด จึงอยากเน้นย้ำและเชิญชวนให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตเมือง-เขตชุมชน เช่น หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล หน้าตลาด หรือหน้าสถานที่ราชการ เป็นความเร็วที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าหากเกิดการชนที่ความเร็วระดับนี้ จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 90%” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวทิ้งท้าย

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เล่าว่า กิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 แล้ว เรามีความตั้งใจว่าจะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2565 โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างวัฒธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย คือ การหยุดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนน โดยเฉพาะการข้ามทางม้าลาย จากการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ขับขี่บางรายที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ไข โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมากอย่างกรุงเทพมหานคร

ในครั้งนี้มีโอกาสได้มาจัดงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีกำลังคนในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานจราจรตามกฎหมายที่จะดูแลระบบจราจรครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ เราจะยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย และติดตามความคืบหน้า เพื่อบูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในการดูแลความปลอดภัยทางถนนให้กับประชาชน

ข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้เกิดความปลอดภัย 3 ด้าน

1.การบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมายและการกำกับติดตาม โดยเฉพาะการบังคับใช้และมีมาตรการดูแล ณ ทางแยก-ทางข้าม โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ยังมีทั้งการจอดรถทับทางม้าลาย-ไม่หยุดให้คนข้าม

2.มาตรการและมาตรฐานความปลอดภัย เช่น มาตรฐานสัญลักษณ์จราจรทางถนน และการกำหนด Speed Zone จำกัดความเร็วในเขตชุมชน

3.การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เช่น นำเทคโนโลยีเสริมการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกรุงเทพมหานคร วางแนวทางควบคุม/บังคับใช้กฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย

ทางด้านของ พ.ต.ท. พชร์ ฐาปนดุล รองผู้กำกับการกลุ่มงานจราจร สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล่าถึงการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนว่า การแก้ไขปัญหางานจราจรจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนในทุกมิติ ทั้งในบริบทของตัวกฎหมาย บริบทของระบบเทคโนโลยี บริบทของการประชาสัมพันธ์ บริบทของฐานข้อมูลและป้องกันลดอุบัติเหตุ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารงานจราจรขึ้นมา

ในส่วนของมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางม้าลาย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการสั่งการอย่างเข้มงวดตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาใน 2 มิติ มิติแรก คือ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย มิติที่สอง คือ เรื่องของการปรับปรุงทางม้าลาย ทั้งในเรื่องของการทาสีตีเส้น ติดตั้งกล้องอิเล็กทรอนิกส์ ติดตั้งสัญญาณไฟเพิ่มเติม โดยต้องประสานกับพื้นที่ชุมชน และหน่วยงานผู้รับผิดชอบถนนในพื้นที่นั้น ๆ อย่างเหมาะสม ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายมี 4 ข้อหาหลักที่เกี่ยวกับทางม้าลาย คือ การจอดรถตรงข้าม ไม่หยุดให้คนข้ามที่ทางข้าม ไม่ข้ามตรงทางข้าม และการใช้ความเร็วเกินกำหนด ซึ่งได้มีการระดมกวดขันความผิดใน 4 ข้อหานี้ตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 8,044 ราย

อย่างไรก็ตาม เรื่องของความปลอดภัยทางถนนไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นความรับผิดชอบของคนไทยทุกคนที่จะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้ หากทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยกันลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย ภาพความปลอดภัยทางถนนที่เราทุกคนปรารถนาจะเห็นนั้น ก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

สสส. และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จะยังคงทำหน้าที่สื่อสาร รณรงค์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนให้คนไทยได้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎจราจร ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบดูแลด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก กิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 6