กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หารือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมรับมือกระทรวงพาณิชย์และสิ่งทอสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ออกประกาศแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าสำหรับรับประทานที่จะมีผลใช้บังคับเดือนกรกฎาคมนี้ ทุกฝ่ายมั่นใจไทยพร้อมรับมือ และเกาะติดสถานการณ์ความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นต้น ประชุมหารือเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์และสิ่งทอสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ออกประกาศคำสั่งที่ S.R.O. 237(I)/2019 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าสำหรับรับประทาน (all edible products) โดยกำหนดให้สินค้านำเข้าดังกล่าวต้องติดฉลากบรรจุภัณฑ์แสดงส่วนผสมและรายละเอียดสินค้าในภาษาอูรดูและภาษาอังกฤษ รวมทั้งแสดงเครื่องหมายรับรองฮาลาล (Halal Certificate) และแนบใบรับรองฮาลาลที่ออกโดยหน่วยงานรับรองฮาลาลที่เป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงานฮาลาล (IHAF) หรือสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม (SMIIC) และเมื่อเดือนเมษายน 2562 ปากีสถานยังออกประกาศคำสั่งที่ S.R.O. 438(I)/2019 กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าสำหรับรับประทานต้องมีอายุการเก็บรักษา (shelf life) อย่างน้อยร้อยละ 50 ของอายุการเก็บรักษา นับจากวันที่ยื่นรายการนำเข้าทั่วไป (Import General Manifest) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้
นางอรมน กล่าวว่า จากการหารือพบว่าทุกฝ่ายพร้อมรับมือกับระเบียบใหม่นี้ โดยเห็นว่าเครื่องหมายรับรองฮาลาลของไทยเป็นที่ยอมรับ และไทยเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม (SMIIC) ซึ่ง สกอท. พร้อมออกใบรับรองฮาลาล และหนังสือแนบรายการเป็นภาษาอูรดูเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออก นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ได้แจ้งผ่านสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่า ยินดีให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย หากประสบปัญหาในการส่งออกไปปากีสถาน ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
นางอรมน เสริมว่า ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับปากีสถาน โดยเปิดการเจรจาตั้งแต่ปี 2558 และเจรจากันมาแล้ว 9 รอบ สามารถสรุปรายละเอียดข้อบทเอฟทีเอกันได้เกือบครบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาแลกเปลี่ยนรายการสินค้าที่จะเปิดตลาด ลดและยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน โดยตั้งเป้าจะหาข้อสรุปการเจรจาให้ได้ภายในปี 2563
ทั้งนี้ ในปี 2561 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 35 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 1,687 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.84 จากปี 2560 เป็นการส่งออกจากไทยไปปากีสถาน 1,403.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสินค้า เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องเทศ สมุนไพร เป็นต้น และเป็นการนำเข้าจากปากีสถาน 206.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสินค้า เช่น สินค้าสัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งทอ เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกสินค้าสำหรับรับประทานไปปากีสถาน มูลค่าประมาณ 112.77 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกไปประเทศปากีสถานทั้งหมดในปี 2561
สำหรับผู้ส่งออกที่ประสงค์จะยื่นขอใบรับรองฮาลาล สามารถดำเนินการผ่านเว็บไซต์ www.halal.or.th หรือหากต้องการตรวจสอบผู้ประกอบการฮาลาล สามารถตรวจสอบได้ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.halal.co.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน Halal Thai
—————————————–
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์