“สังคมปรับ-โลกเปลี่ยน ภาพอนาคตงานวิจัยระบบสุขภาพ ต้องตอบโจทย์เชิงระบบของประเทศ และความท้าทายหลังโควิด-19”

บนเวทีการประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 : ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต” มีประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารและผู้ใหญ่ในวงการสาธารณสุข รวมถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพที่ส่งผลต่อประชาชน ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นของ “โรคอุบัติใหม่” จากบทเรียนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา และช่วยกันให้มุมมอง พร้อมทั้งเสนอแนวทางการรับมือกับการอุบัติของโรคชนิดใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการวางแผนเชิงระบบด้านการวิจัยระบบสุขภาพ และบทบาทงานวิจัยในระบบสาธาธารณสุขที่จะช่วยรับมือและแก้ปัญหาในอนาคต

บทเรียนของโควิด-19 มีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่

ความเห็นของ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ให้ภาพกับผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นนักวิจัย และเป็นมันสมองสำคัญสำหรับการนำเอาองค์ความรู้ไปทำการวิจัยเพื่อระบบสาธารณสุขของประเทศนับพันคนว่า ระบบสุขภาพมีความเป็น พลวัตรจากวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นระบบการบริการสุขภาพหรือระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การจองคิวตรวจล่วงหน้า หรือการรับยาที่ร้านยา ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกมากขึ้น การจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ การดูแลรักษาและการป้องกันโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และองค์ความรู้ใหม่ๆ ฯลฯ

“ที่ผ่านมานักวิจัยระบบสุขภาพหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย อาจเป็นประเด็นที่นักวิจัยให้ความสนใจเป็นหลัก แต่สำหรับปัจจุบัน สวรส. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านสุขภาพของประเทศ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า งานวิจัยที่สนับสนุนต้องสามารถแก้ปัญหาเชิงระบบ และมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวมที่ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” นพ.นพพร กล่าว

นพ.นพพร สะท้อนอีกว่า ที่ผ่านมาการระบาดของโรคโควิด-19 ให้บทเรียนกับวงการสาธารณสุขมากมาย แต่ระหว่างทาง เราก็ได้บทเรียนที่มีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่ เช่น โครงการับยาที่ร้านยา ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความแออัดในสถานพยาบาล ลดการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น ได้รับบริการและคำปรึกษาจากเภสัชกรอย่างมีคุณภาพ เป็นต้น แต่แน่นอนว่า ประเทศไทยก็ยังต้องการงานวิจัยอีกจำนวนมาก เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้เดินหน้าไปในทิศทางที่เหมาะสมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป

สอดรับกับแนวคิดของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เน้นว่า งานวิจัยระบบสุขภาพต้องพยายามหาข้อเท็จจริงให้รอบด้าน เพื่อส่งต่อข้อมูลเชิงประจักษ์ให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำไปใช้ในการพิจารณา หรือเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนมากที่สมบูรณ์ แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ อาจเพราะการตั้งคำถามที่ไม่ตรงประเด็น ขาดข้อมูลที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ จนทำให้งานวิจัยถูกนำไปขึ้นหิ้ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ

“การวิจัยด้านสุขภาพที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน หากเราวางแผนการวิจัยได้ครอบคลุม ตรงประเด็น สามารถสรุปงานวิจัยและส่งต่อไปใช้ในการกำหนดนโยบายได้เลย เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากมีการวิจัยที่รวดเร็วว่าจะมีการกลายพันธุ์ของโรค จะมีประโยชน์อย่างมาก และที่สำคัญงานวิจัยควรเจาะไปในประเด็นเฉพาะเรื่องให้มากยิ่งขึ้น เช่น การดูแลระดับปฐมภูมิ หรือเรื่องความปลอดภัยและสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน ที่เป็นความท้าทายสำหรับอนาคต” นพ.ศุภกิจ กล่าวตอนหนึ่ง

หรืออีกหนึ่งความเห็นบนเวทีประชุม จาก ศ.ดร.นพ. นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเช่นกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสัญญาญเตือนให้รู้ว่า เราต้องปรับตัวในเรื่องการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ นักวิจัยและเครือข่ายต้องรู้เท่าทัน ตามให้ทันกับสิ่งที่ท้าทายในระยะ 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นการทำวิจัยจะต้องเชื่อมโยงกับส่วนงานทุกระดับ ทั้งในและต่างประเทศ เพราะสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น

“ต่อไปอาจจะไม่ใช่เฉพาะ โควิด-19 แต่จะเป็นโรคอุบัติใหม่ทุกโรค เราต้องคิดล่วงหน้าว่า เราจะรับมือกันแบบไหน เรื่องแพลตฟอร์มสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบุคลากรและฐานข้อมูลจะต้องเป็น One World เป็น One Health เพราะหากมีการระบาดของโรคใหม่ๆ ขึ้นมาอีก ศาสตร์ต่างๆ ต้องเข้ามาร่วมกันหมดเป็นเชิงระบบ ซึ่งความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของนักวิจัยทั้งหลาย” ศ.ดร.นพ. นรินทร์ กล่าว

ประเด็นงานวิจัยที่สอดรับกับอนาคตของระบบสุขภาพ

ภาพรวมที่กว้างเกินไปของประเด็นการวิจัยระบบสาธารณสุขในอนาคต จึงอาจต้องมีการพัฒนางานวิจัยเป็นประเด็นให้ชัดเจน จากแนวคิดของ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตรมิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เสริมว่า งานวิจัยที่จะทำให้ระบบสุขภาพของคนไทยดีขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพ (Health Service), ระบบสุขภาพ (Health System), การดูแลสุขภาพ (Health Care) บุคลากรด้านสุขภาพและการฝึกอบรม (Health Personnels & Training) รวมถึงเครื่องมือและยา (Medicine & Equipments MED. Product) เพื่อหาคำตอบว่าจะต้องพัฒนาต่อไปอย่างไร

และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในแต่ละสถานการณ์ ด้วยเพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ายา เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ จากต่างประเทศจำนวนมาก จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยและการพัฒนาที่รอบด้าน ครบวงจร ลงไปถึงระดับฐานล่าง อีกทั้งงานวิจัยนั้นๆ ต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดการพัฒนาได้

ดร.ชาญเชาว์ ไชยยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานวิจัยจะเป็นอนาคต เป็นโอกาส และเป็นความหวังของคนในสังคมด้านสุขภาวะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของชีวิต สุขภาพ และสังคม แต่การวิจัยที่มุ่งในเรื่องเชิงระบบ นักวิจัยจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความพลวัตรอยู่ตลอดเวลา และคำถามที่สำคัญคือ นักวิจัยมองสังคมแบบไหน และคาดหวังสังคมอย่างไรเพื่อให้เกิดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านสุขภาพ และกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มประชากรเฉพาะ จะเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร

ขณะที่ ดร.อรพรรณ โตสิงห์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า จากที่ทำงานวิจัยด้านผู้สูงอายุ มองว่างานวิจัยสำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านมา มีมากกว่า 2 ล้านเรื่อง แต่งานวิจัยจำนวนมาก ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ รวดเร็วกว่าที่คิด

“สำหรับงานวิจัยด้านผู้สูงอายุ หรือประชาชนกลุ่มใดก็ตาม ขอแนะนำว่า ไม่ควรเน้นไปในเรื่องเทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่ควรเน้นงานวิจัยที่มองให้ครอบคลุมและรอบด้าน โดยศึกษาข้อมูลจากการใช้ชีวิตจริงของผู้ที่จะเข้าไปแก้ปัญหา และคำนึงถึงสิ่งที่เป็นไปได้ด้วย เพื่อให้งานวิจัยสามารถตอบโจทย์และใช้ประโยชน์ได้จริง”

ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช อดีตคณะกรรมการ สวรส กล่าวว่า บทบาทหลักของ สวรส. คือการเป็นหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยเรื่องสุขภาพ ดังนั้นในอนาคตต้องตีโจทย์ให้กว้าง ตีโจทย์ให้แตก โดยต้องมีทักษะของการตั้งโจทย์วิจัยให้ลึกและส่งผลในการวางแผนเชิงระบบระยะยาว เพื่อให้เห็นว่างานวิจัยระบบสุขสภาพ ไม่ใช่งานวิจัยสุขภาพทั่วๆ ไป จึงควรตั้งโจทย์ไว้ล่วงหน้าว่า ต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น

“นอกจากนั้น ต้องยอมรับว่า 30 ปีที่ผ่านมา สวรส. ขาดแคลนนักวิจัยเชิงระบบ สวรส.จะทำอย่างไร เพื่อเสริมสร้างทักษะงานวิจัยเชิงระบบให้กับนักวิจัยได้มีความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องตีโจทย์นี้ให้แตกด้วย เพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษที่ 4 ของ สวรส.” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวท้ายสุด