นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มเติม 2 ครั้ง มูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านเหรียญฯ และจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ตอบโต้มูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านเหรียญฯ นั้น
สนค. ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นในส่วนของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญฯ พบว่าอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5.6-6.7 พันล้านเหรียญฯ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ประมาณร้อยละ 46 โดยตัวเลขดังกล่าว คำนวณจากทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งในกลุ่มสินค้า 2 แสนล้านเหรียญฯ ดังกล่าว การส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 9.7 และการส่งออกไปประเทศที่สามที่เป็น supply chain ลดลงร้อยละ 7.5 (ทั้งหมดเป็นตัวเลขของไตรมาสแรกปี 62 YoY) ในขณะเดียวกัน พบว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในปีนี้ จึงเป็นตลาดที่ต้องเร่งส่งออกทดแทนจุดเปราะบางอื่น ๆ
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า เพื่อรับมือกับการส่งออกที่อาจจะลดลง สนค. ได้วิเคราะห์รายการสินค้าในรายละเอียด พบว่า ไทยมีสินค้าหลายตัวที่การส่งออกขยายตัวได้น่าพอใจ เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้หลายชนิด เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มสินค้านี้แม้จะมีมูลค่าน้อย ไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด แต่การส่งออกสินค้าเหล่านี้ จะมีผลในทางจิตวิทยาต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากมีผลต่อรายได้ของภาคเกษตรและ SME จึงควรเร่งผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น สำหรับสินค้ากลุ่มที่การส่งออกอาจลดลงมาก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยนักลงทุนต่างชาติและไทยขนาดใหญ่ อาจจะต้องใช้มาตรการลงทุนเป็นเครื่องมือสนับสนุน โดยดึงดูดให้นักลงทุนจากทุกประเทศรวมทั้งจีนมาลงทุนใน EEC มากขึ้น แต่ต้องเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ผลิตสินค้ารุ่นเก่า รวมทั้งอาจขอให้เร่งขยายการลงทุนและ production capacity ในไทยมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และให้หาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และประเทศอื่นทดแทนการพึ่งตลาดจีน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการกระจายตลาดดังกล่าวอย่างเต็มที่
สำหรับกลุ่มสินค้ายานยนต์ อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการ safeguard ภายใต้มาตรา 232 (ความมั่นคง) ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะประกาศวันศุกร์นี้ รวมทั้งจากความตกลง USMCA ที่มาแทน NAFTA จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 2563 โดยกำหนดเงื่อนไข local content เข้มงวดขึ้น จาก 60.62.5% เป็น 75% อาจจะต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยหาทางทำ Joint Venture หรือลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสหรัฐฯ หรือเม็กซิโก อยู่แล้ว เพื่อรักษาสัดส่วนในตลาดไว้
สำหรับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มเติมเมื่อคืนวันที่ 13 พค. และรายการสินค้าที่จีนได้ประกาศตอบโต้สหรัฐฯ แล้วนั้น สนค. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่า มีรายการใดที่ไทยสามารถแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มได้ โดยเฉพาะมีสินค้าเกษตรอยู่หลายรายการ
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ได้กระทบไทยเพียงประเทศเดียว แต่ส่งผลไปทั่วโลก อาจทำให้ปริมาณการค้าโลกหดตัว รวมทั้งส่งผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และราคาน้ำมัน การขึ้นภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเช่นไทย โดยรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์มิได้นิ่งนอนใจ ได้เตรียมแนวทางการรับมือไว้ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) ได้สั่งการให้กรมต่าง ๆ เตรียมพร้อม เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ทำแผนรุกตลาดในสินค้าศักยภาพลงลึก และเร่งการพัฒนาการส่งออกผ่านออนไลน์ (e-commerce) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมข้อมูลเรื่อง non-tariff measures ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ควรเร่งเจรจา กรมการค้าต่างประเทศเตรียมมาตรการการค้าชายแดนและการขายข้าว และ สนค. เสนอแนวทางรับมือระยะสั้นและยุทธศาสตร์ระยะกลาง ทั้งนี้ รมช. พณ. กำลังจะเดินทางไปอินเดีย เพื่อหาลู่ทางการขยายการส่งออกปาล์มน้ำมันเพิ่มเติม โดยอินเดียเป็นตลาดหนึ่งที่จะเพิ่มความสำคัญขึ้น จำเป็นต้องให้ผู้แทนระดับสูงไปกระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เป็นยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ แต่สำหรับเรื่องการเจรจา FTA กับประเทศต่าง ๆ จะต้องรอรัฐบาลใหม่
นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะเชิญกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วนมาหารือเบื้องต้นก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรี หรือ รมช. พณ. เป็นประธาน ก่อนที่จะมีการประชุมหารือกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ศกนี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายส่งออกต่อไป
สำหรับเรื่องที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งว่าไทยอาจะเข้าข่ายเป็นประเทศที่เป็น currency manipulator นั้น จากข้อมูลการส่งออกไปสหรัฐฯ ของฝ่ายไทย พบว่าแม้จะสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่เห็นว่าสูงผิดปกติจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ตรงกันข้าม เงินบาทไทยค่อนข้างแข็งมากเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองก็ยังได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการให้เร่งนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร และให้มีประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมาโดยตลอด
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวในตอนท้ายว่า สงครามการค้าครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่สหรัฐฯ และจีนที่เจ็บตัวกัน แต่ผลกระทบกระจายไปทั่วโลก เจ็บตัวกันไปไม่มากก็น้อย ซึ่งไม่เป็นการดีกับการค้าโลกที่ยังเปราะบางอยู่ สนค. มองว่าความขัดแย้งของสองประเทศ มีรากเหง้าลึกกว่าเรื่องของการค้า เป็นการแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยีและการมีอิทธิพลในทวีปเอเชียด้วย จึงอาจจะเป็นหนังเรื่องยาว ในส่วนของไทยแม้ว่าอาจจะทำให้การส่งออกลดลงบ้างในปีนี้ แต่ท่ามกลางปัญหา ก็ยังเห็นโอกาสอยู่หลายจุด เพราะเศรษฐกิจไทยและการส่งออกไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง สินค้าไทยหลายตัวมีมาตรฐานสูงและมีชื่อเสียงในตลาดโลก ขณะนี้เป็นโอกาสที่เราจะนำสินค้าไทยแทรกเข้าไปในหลาย ๆ ตลาด แม้ว่าระยะสั้นอาจจะต้องมีผลกระทบแรงต่อการส่งออก แต่มั่นใจว่า ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็จะรับมือได้อย่างแน่นอน
——————————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
|