ดีป้ารุกคืบสร้างเมืองอัจฉริยะชายแดนใต้ ลุยจัด “สมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์โรดโชว์” ที่ยะลา

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ จ.ยะลา จัดงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ “Smart City Thailand Roadshow” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครการเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมี กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้นำเมืองจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ได้แก่ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ทั้งเทศบาล อบจ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของพื้นที่ ทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน

วันที่ 14 พฤษภาคม 2562, โรงแรมยะลาแกรนด์พาเลส อ.เมืองยะลา จ.ยะลา – คณะผู้บริหารจากดีป้า นำโดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า พร้อมด้วย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานฯ  ดร.ศุภกร สิทธิไชย รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานฯ นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนล่าง ร่วมกับฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าร่วมงาน “Smart City Thailand Roadshow” โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวต้อนรับและแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ว่า “จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย มีภาพลักษณ์ในการเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่มีความสวยงามและเป็นระเบียบมีความสะอาดที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศไทย  มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและสวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองแห่งผลไม้ และมีประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในความหลากหลายของพหุวัฒนธรรม อีกทั้งมีความพร้อมในการพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบการเป็นเมืองอัจฉริยะ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ชายแดน เนื่องจากมี ศอบต. ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และมีหน่วยงานความมั่นคงที่พร้อมดำเนินการ และเป็นศูนย์รวมของข้อมูล Big Data ในพื้นที่ สำหรับการขยายผลไปสู่จังหวัดภาคใต้ชายแดนได้ต่อไป”

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ หลายประเทศได้เริ่มพัฒนาระยะหนึ่งแล้ว โดยหลักการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือ
เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาการเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน

ผอ.ดีป้า ย้ำว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ทั้ง สหรัฐอเมริกา ประเทศในภูมิภาคยุโรป รวมถึงประเทศในเอเชีย  เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ก็มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อปรับทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนในการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองอัจฉริยะ เช่น การพัฒนาสู่สังคมไร้เงินสด การพัฒนาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การปรับใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จะเป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาภาพรวมของประเทศ ส่วนพื้นที่ที่มีความพร้อม และต้องการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะก็ให้ศึกษาข้อกำหนด หรือเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติ วิธีการ และกระบวนการในการพิจารณาความเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พ.ศ.2562 และคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในการเสนอขอรับพิจารณาประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ ความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย นับตั้งแต่ผู้ว่าราชการ หรือผู้นำในพื้นที่นั้นๆ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาสังคม หรือกลไกประชารัฐ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เช่น โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านกายภาพและด้านดิจิทัล นโยบาย กฎ ระเบียบที่รองรับการพัฒนา การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน การเชื่อมโยงข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดภาครัฐ การชดเชยสำหรับเรื่องต่างๆ และงบประมาณตั้งต้น จากแหล่งงบประมาณต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ หรือการระดมทุน เป็นต้น

“การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาเมือง เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลต่อการผลักดันการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาค แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย คาดหวังว่าจะสามารถสร้างต้นแบบการพัฒนาสู่อาเซียน และโดยเฉพาะปีนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานเอเชียน ก็จะทำหน้าที่เจ้าภาพในการขับเคลื่อน ASEAN Smart City Network อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันสร้างกรอบในการพัฒนา 26 เมือง ของประเทศสมาชิก จากการถอดบทเรียนการพัมนาเมืองแต่ละด้านที่มีความหลากหลายของประเทศไทย รวมทั้งเป็นประตูสู่ประเทศอาเซียน วันนี้ ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเดินไปข้างหน้า ทุกคนในชาติเองก็ต้องก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน ช่วยกันยกระดับประเทศให้ก้าวไปอีกขั้น โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเราจะช่วยกันลงมือทำร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางการพัฒนา Smart City ที่เป็นระบบ เพื่อให้ประเทศประสบความสำเร็จอย่างเป็นระบบ” ดร. ณัฐพล กล่าว

ด้าน ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานฯ  กล่าวถึง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการสมัครเป็นเมืองอัจฉริยะ ว่า พื้นที่ที่ยื่นสมัครขอเป็นเมืองอัจฉริยะ ต้องจัดทำข้อมูลตามคู่มือการจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะ และสามารถศึกษาเกณฑ์การประเมินทั้ง 7 ด้าน ได้ตาม เว็บไซต์ www.smartcitythailand.or.th โดยต้องดำเนินการจัดทำแผนอย่างน้อย 2 ด้าน มี Smart Environment เป็นด้านบังคับ รวมทั้งได้ทั้งแนะนำแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อสมัครเป็นเมืองอัจฉริยะ

การจัดการเชิงปฎิบัติการในครั้งนี้ เป็นการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ โดยมีการทำ workshop ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้นำเมืองจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส  ทั้ง เทศบาล อบจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของพื้นที่ ทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้มากกว่า 200 คน และจะมีการจัดงานสัมมนา “Smart City Thailand Roadshow” ครั้งต่อไปที่ ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 29 พฤษภาคม 2562