ท่ามกลางพลวัตรของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง ทุกสรรพสิ่งล้วนมีการเดินทางตลอดเวลา ทั้งคน สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สุขภาพ และทุกๆ อย่างในสังคม ซึ่งยิ่งเมื่อมองมายังการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า ผ่านการสร้างองค์ความรู้ และการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่เรียกว่า “งานวิจัย” ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะงานวิจัยระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงกับหลากหลายประเด็น และส่งผลกระทบกับทุกชีวิตในสังคม
ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีส่วนทำให้งานวิจัยระบบสุขภาพของประเทศก้าวหน้าและพัฒนาไปมาก สามารถนำงานวิจัยไปใช้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ตามทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งในเวทีการประชุมวิชาการ 30 ปี สวรส. “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 : ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต” มีการพูดถึงประเด็นการวิจัยในระบบสาธารณสุขของประเทศ และมีการระดมความคิดเห็นที่น่าสนใจของคนในวงการวิจัยเพื่อสุขภาพของประเทศ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บอกเล่าความเห็นว่า สถาบันหรือองค์กรต่างๆ ต้องมีการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง สวรส. ก็เช่นกัน ที่นอกจากส่งเสริมการวิจัยแล้ว ยังต้องปรับตัวเพื่อสร้างความสมดุลและช่วยเหลือผู้ทำวิจัยให้สามารถสร้างงานวิจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในอนาคต ดังนั้น สวรส. จึงต้องมีบทบาทในการชักชวนนักวิจัยให้เข้ามาทำวิจัยเชิงระบบที่เชื่อมต่อกับภาคสังคมและนโยบายได้ ตลอดจนผลักดันให้มีการพัฒนาระบบสุขภาพ ให้เท่าทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง
“ยกตัวอย่างโจทย์วิจัยในประเด็นสำคัญที่จะต้องทำในโอกาสต่อไปคือ การอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งมีกลไกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ขณะที่บทบาทหน้าที่ของการดำเนินงานยังสับสนกันอยู่ อีกทั้งระบบสุขภาพไทย มีทั้งการรวมศูนย์และกระจายอำนาจ รวมไปถึงระบบบริการปฐมภูมิที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องมีการจัดระบบให้สอดคล้องและเหมาะสม ขณะเดียวกันยังมีองค์กรและกฎหมายในระบบสาธารณสุขจำนวนมาก ที่อาจมีปัญหาในเรื่องการทำงานร่วมกันอีกด้วย” นพ.อำพล กล่าว
นพ.อำพล ชวนคิดต่ออีกว่า แนวคิดด้านสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลกตลอดเวลา เช่น ปัญหาโลกร้อน ภัยธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ น่าสนใจว่านักวิจัยจะจับประเด็นการวิจัยไปในทิศทางใด เพื่อให้เชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ หรือในแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ฉบับที่ 13 ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ซึ่งทิศทางนี้จะมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศในภาพรวมอย่างไร รวมทั้งการผสานการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ระบบเทคโนโลยีขั้นสูง และระบบภูมิปัญญาท้องถิ่น จะทำได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการทำงานคู่ขนานไปในทิศทางเดียวกันได้ และคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่นักวิจัยต้องหาคำตอบ
ด้าน นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2535 สวรส. เป็นเสมือนที่ซุ่มตัวของคณะทำงานโครงการระบบรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล โดยในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการทำโครงการเพื่อรับรองคุณภาพสถานพยาบาล โดยนำร่องในโรงพยาบาล 35 แห่ง ภายใน 3 ปี ซึ่ง ณ ตอนนั้น สามารถรับรองคุณภาพได้เพียง 4 แห่ง ทั้งนี้ถ้ามองกันอย่างผิวเผิน โครงการนี้ดูเหมือนจะล้มเหลว แต่ถ้ามองให้ไปถึงรากฐานของการเรียนรู้ การรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยต่อเนื่อง ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้เกิดแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ จนสามารถนำไปสู่การก่อตั้งภาคีความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลมาจนถึงปัจจุบัน
ด้าน ดร.นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาระบบสุขภาพของคนไทย สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายส่วน และองค์ประกอบทางการเมืองก็เช่นกัน ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น จนทุกวันนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีการผลิตแพทย์ พยาบาลเพิ่มมากขึ้น และมีการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น
“สำหรับงานวิจัยระบบสุขภาพนั้น สวรส. ทำได้ดีแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ต้องเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีช่องว่างระหว่างสังคมสูง จึงต้องมุ่งสร้างงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนในระบบสุขภาพของคนไทยให้มากขึ้น” ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า ในอดีตการสนับสนุนทุนวิจัยของ สวรส. มีความน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น เรื่องสังคมกับสุขภาพ ที่เปิดทางให้ภาคประชาสัมคมเข้ามามีบทบาทในเรื่องระบบสุขภาพมากขึ้น หรือเรื่องการศึกษาเพื่อสะท้อนระบบสุขภาพ มีการวิจัยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ของผู้ป่วยหลายเรื่อง อย่างเช่นงานวิจัยของ สวรส. ที่มีการพูดถึง “การตายอย่างสันติ” ซึ่งต่อมามีการพัฒนารูปแบบเชิงระบบ จนเกิดเป็นระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบประคับประคอง (Palliative care) อีกทั้งยังได้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องการใช้เครื่องมือเพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ตลอดจนการศึกษาด้านประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทย ซึ่งเป็นมิติทางสังคม ที่ สวรส. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยมาโดยตลอด
“ระบบสาธารณสุขไทย หลายกรณีมีมิติทางการเมืองเข้ามาทับซ้อน ดังนั้นการที่จะสร้างระบบวิจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคมที่มีความซับซ้อนนั้น จำเป็นต้องมองให้รอบด้าน และมีกลไกต่างๆ มาสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการทางสังคมศาสตร์ ซึ่งลักษณะการทำวิจัยจะแตกต่างจากกระบวนการวิจัยทั่วๆ ไป” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว
นพ.สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอว่า งานวิจัยระบบสุขภาพ ผู้วิจัยต้องนำองค์ประกอบหลายๆ ส่วนมาประกอบกัน เพื่อให้งานวิจัยประสบผลสำเร็จ มีความก้าวหน้า เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ และสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว
“จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับ สวรส. ในช่วงแรกพบว่า การวิจัยระบบสาธารณสุข มีการลองผิดลองถูก แต่ต่อมา สามารถจับประเด็นได้ว่า งานวิจัยระบบสาธารณสุขแตกต่างจากงานวิจัยทั่วไป เนื่องจากเป็นการคิดและการมองปัญหาเชิงระบบ รวมทั้งต้องออกแบบกลไกด้านต่างๆ ขึ้นมารองรับ เริ่มตั้งแต่การตั้งโจทย์วิจัยที่ชัดเจน ในประเด็นเป้าหมายต่างๆ จากนั้นก็เป็นการแสวงหาความรู้ แล้วนำเอาองค์ความรู้ทั้งหมด มาบริหารจัดการให้เป็นกระบวนการ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” นพ.สุภกร กล่าวทิ้งท้าย