ก.แรงงาน รุก! เต็มอัตราฝึกผู้ต้องขัง มุ่งสร้างชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ ดำเนินการแล้วกว่า 4 พันคน ทั่วประเทศ
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสมหามงคล โดยถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ส่วนหนึ่งได้รับการปล่อยตัว อีกส่วนได้รับการลดโทษ จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ คาดว่าจะมีผู้ต้องขังประมาณ 100,000 คน จากเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ จะได้รับสิทธิดังกล่าว กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้ดำเนินการฝึกอาชีพเพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ โดยการพัฒนาทักษะวิชาชีพ ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง คุณธรรมจริยธรรมในการประกอบอาชีพ จะเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมมุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพด้วย นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกรมการจัดหางาน ในการจัดหาตำแหน่งงานที่เหมาะสม การรับงานไปทำที่บ้าน รวมถึงอาชีพอิสระ ในปัจจุบันมีผู้ต้องขังแสดงความประสงค์จะเข้าทำงานหลังพ้นโทษกว่า 30,000 คน ขณะที่ตำแหน่งงานว่างมีมากกว่า 80,000 อัตรา
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการครั้งนี้ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ของกรมราชทัณฑ์ ในการนำวิทยากรและครูฝึกจัดฝึกอบรมในเรือนจำและทัณฑสถาน ซึ่งเน้นหลักสูตรสาขาช่างที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ อาทิ ช่างก่ออิฐฉาบปูน ช่างไม้เครื่องเรือน ช่างประกอบโครงอะลูมิเนียม ช่างบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร การทำเก้าอี้จากยางรถยนต์ นวดไทยเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
“ซึ่งในปี 2562 ดำเนินการฝึกอบรมแล้ว 4,285 คน ล่าสุดสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน เปิดฝึกอบรมหลักสูตรช่างปูกระเบื้อง รุ่นที่ 35/2562 ที่โรงฝึกอาชีพ เรือนจำจังหวัดน่าน ในช่วงระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2562 (ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) มีผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเข้าฝึกอบรมจำนวน 25 คน ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ ลดสถิติการกระทำผิดซ้ำ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เต็มภาคภูมิ” อธิบดี กพร. กล่าว