ธ.ก.ส. พร้อมจ่ายสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม วงเงิน 15,000 ล้านบาท

ธ.ก.ส. พร้อมจ่ายสินเชื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตดั้งเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพ การแข่งขันให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วงเงิน 15,000 ล้านบาท

นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าธ.ก.ส. ได้ทำ “โครงการสินเชื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์และผู้ประกอบการ นำไปใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตแบบสมัยใหม่ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตหรือสินค้าทางการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น การปลูกพืชโดยใช้ระบบน้ำหยด การผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตโดยใช้ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำหรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร การใช้โดรนในการหว่านเมล็ดพันธุ์และให้ปุ๋ย เป็นต้น รวมถึงผลิตสินค้าเกษตรที่มีโอกาสทางการตลาดโดยมีการวางแผนการผลิต การสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงตลาดแบบครบวงจร เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาการให้สินเชื่อตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2564

สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ กรณีเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย MRR-1 (MRR ปัจจุบันร้อยละ 7 ต่อปี) ในปีที่ 1-3 และ อัตรา MRR ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป กรณีเป็นสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR-0.5 (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 5 ต่อปี) ในปีที่ 1-3 และอัตรา MLR ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ระยะเวลาชำระหนี้กรณีกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ไม่เกิน 12 เดือนนับจากวันกู้ และกรณีกู้เพื่อลงทุน ไม่เกิน 15 ปีนับจากวันกู้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้จ่ายสินเชื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืนไปแล้ว 6,584 ราย เป็นเงิน 3,347 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center 02 555 0555

“สินเชื่อตามโครงการดังกล่าวจะเข้าไปช่วยตอบโจทย์ให้ภาคเกษตรมีความมั่นคง มีความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และขณะเดียวกันก็เป็นการจูงใจให้ทายาทเกษตรกรหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนและพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศให้มากยิ่งขึ้น” นายศรายุทธกล่าว