กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานวัณโรคในโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวช ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการดําเนินงานผสมผสานงานวัณโรคและสุขภาพจิต พร้อมเร่งรัด ค้นหา คัดกรอง ดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ให้เข้าถึงกระบวนการรักษา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคให้แก่ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด
วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานวัณโรคในโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวช เพื่อยุติปัญหาวัณโรคในผู้ป่วยจิตเวช โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อํานวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต และคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการกองทัพไทย และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานเพื่อมุ่งยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในปี 2578 โดยกรมควบคุมโรคและกรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกันเดินหน้าภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินงานผสมผสานงานวัณโรคและสุขภาพจิต เร่งรัด ค้นหา คัดกรอง และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งจากข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ปี 2562 พบความชุกวัณโรคในผู้ป่วยจิตเวช 2,258 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าอุบัติการณ์ในกลุ่มประชากรทั่วไปของประเทศในขณะนั้นถึง 15 เท่า
“การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานวัณโรคในโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถเข้าถึงกระบวนการรักษา ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคให้แก่ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และส่งเสริมให้การดําเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคในโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางการควบคุมป้องกันวัณโรคของประเทศไทยและมาตรฐานสากล” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมสุขภาพจิต ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินงานผสมผสานงานวัณโรคและสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2564 และมีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ข้อมูลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำร่องการค้นหา คัดกรอง ตรวจวินิจฉัยวัณโรคในผู้ป่วยจิตเวชที่รับรักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญา และสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาสถานการณ์และแนวทางการดำเนินงาน พร้อมวางแผนขยายผลในพื้นที่ต่างๆ
รวมทั้งตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่พยาบาลจากสถาบันจิตเวชทั่วประเทศ จำนวน 14 แห่ง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการลดอุบัติการณ์วัณโรค นำไปสู่การยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
********************************** 1 สิงหาคม 2565