สธ.ไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมประชุม 10 ประเทศอาเซียนและรัฐบาลแคนาดา เชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อบรรเทาภัยคุกคามทางชีวภาพ

นสพ.อธิวัฒน์ ปริมสิริคุณาวุฒิ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้แทนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมประสานงานเพื่อบรรเทาภัยคุกคามทางชีวภาพ ระยะที่ 2 (Coordination Meeting on the Mitigation of Biological Threats (MBT) Programme Phase 2) ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม และทางออนไลน์จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแคนาดา รวมทั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH หรือ OIE เดิม) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เป็นต้น การประชุมนี้จึงเป็นการทบทวน ปรับปรุง และประเมินผลการดำเนินโครงการ MBT ระยะที่ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ และหารือทบทวนโครงการใหม่ในระยะที่ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนภูมิภาคอาเซียน

นสพ. อธิวัฒน์ นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ “Enhancing Biosafety, Biosecurity and Bioengineering for Health Laboratories in ASEAN” โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแคนาดา ซึ่งโครงการดังกล่าวมีส่วนในการช่วยยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ (Biosafety & Biosecurity) และความปลอดภัยในประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านการฝึกอบรมทางด้านวิศวกรรมชีวภาพ (Bioengineering) ทั้งเครื่องมือหลักคือตู้ชีวนิรภัย (Biosafety Cabinet: BSC) ที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โครงสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (Biosafety Level-3: BSL-3) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือด้านวิศวกรรมชีวภาพที่สำคัญซึ่งใช้ในขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคอุบัติใหม่หรือเชื้อโรคอันตรายสูง ซึ่งทั้งสองส่วนมีความสำคัญในการป้องกันเชื้อโรคอันตรายสูงแพร่กระจายออกสู่ภายนอกห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นภัยคุกคามสุขภาพส่วนรวมของประชาชน

ในส่วนของกรมควบคุมโรคได้นำเสนอผลการดำเนินงานของ 2 โครงการ ในการจัดการกับภัยคุกคามทางชีวภาพ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาเครือนักระบาดวิทยาภาคสนามในภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 FETN) และ 2) การจัดตั้งศูนย์ด้านการตอบโต้เร็ว (Response) ของศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED)

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้หารือโครงการในระยะที่ 3 “Capacity Building of ASEAN Health Laboratories on biosafety, biosecurity and bioengineering concepts through training and practicing on biosafety, BSL-3 commissioning and BSL-3 regulations”เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ อย่างยั่งยืนในการป้องกันภัยคุกคามด้านสุขภาพส่วนรวมของประชาชนและเป็นการใช้ประโยชน์จากศูนย์การฝึกอบรมระดับภูมิภาค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (DMSc Regional Training Center) ที่มีอยู่ 2 แห่ง ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นนทบุรี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี โดยการดำเนินงานดังกล่าวมีความสอดคล้องกับ ASEAN Post-2015 Health Development Agenda (APHDA) 2021-2025 ของ ASEAN Health Clusters (AHC) 2: Responding to All Hazards and Emerging Threats ในลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ (Health Priorities) ที่ 10 การเสริมศักยภาพของห้องปฏิบัติการ (Strengthening laboratory capacity) เพื่อพัฒนาสมรรถนะของประเทศและประเทศสมาชิกอาเซียน ในการรับมือกับภัยคุกคามสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป