กระทรวงเกษตรฯ เร่งจัดทำพิธีสารเปิดเส้นทางการขนส่งผลไม้ทางรถเพิ่ม 2 เส้นทางเพื่อรองรับการขยายตัวส่งออกผลไม้ไทยไปจีนแก้ปัญหาโลจิสติกส์ หวังเพิ่มมูลค่าการค้าผลไม้ไทย-จีน
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับทราบปัญหาจากผู้ประกอบการค้าผลไม้กรณีการส่งออกผลไม้ไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาลนี้ คือทุเรียน ผ่านเส้นทางบกเข้าทางลาวและเวียดนามเพื่อเข้าจีนนั้น ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้พบปัญหาจราจรทำให้การขนส่งล่าช้า3 – 4 วัน เนื่องจากต้องรอคิวที่ชายแดนฝั่งเวียดนาม ณ ด่านโหย่วอี้กวน ส่งผลต่อคุณภาพสินค้าเพราะชายแดนเวียดนามมีปลั๊กไฟไม่เพียงพอสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ความเย็น นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ไม่มีรถหัวลากมารับสินค้าที่รอเปลี่ยนหัวลากที่ฝั่งลาวทำให้สินค้าติดค้างที่ลาวอีก3 – 4 วันจึงได้มอบหมายให้นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว กงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจวประสานผู้นำเข้าและศุลกากรจีนเพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบสาเหตุเกิดจาก 1. จีนจัดระเบียบการค้าชายแดนใหม่ โดยจัดทำระบบ Single Window ซึ่งรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของรถขนส่งสินค้าและระบบการแจ้งสำแดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยจะต้องกรอกข้อมูลเข้าระบบล่วงหน้า (ชิปปิ้งเป็นผู้กรอกข้อมูล) และใช้ระบบถ่ายรูปตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ตรงกันในการตรวจปล่อยรถอัตโนมัติเมื่อรถถึงด่านโหย่วอี้กวน เพื่อให้ตรวจปล่อยรถได้รวดเร็ว โดยเริ่มทดสอบระบบในเดือนเมษายน 2562 และเริ่มใช้จริงตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 แต่ปรากฏว่าระบบการเชื่อมโยงข้อมูลยังไม่สมบูรณ์และระบบยังไม่เสถียร ทำให้เมื่อมีรถจำนวนมากมาถึงด่านไม่สามารถอ่านข้อมูลเพื่อตรวจปล่อยได้ต้องวนไปเข้าคิวใหม่และตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง การตรวจปล่อยจึงล่าช้ามากซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะด่านฝั่งเวียดนามเท่านั้นแต่เกิดที่ด่านฝั่งจีนเช่นกันทำให้เกิดปัญหารถขาดช่วงจากจีนเพื่อมารับสินค้าไทยด้วย นอกจากนี้การกรอกข้อมูลรถในระบบใหม่นี้มีการจำแนกรถหลายรูปแบบทำให้เข้าใจไม่ตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่จีนกับผู้กรอกข้อมูลและมีข้อมูลที่ไม่ตรงกันกับข้อมูลที่ระบบตรวจปล่อยระบุไว้ส่งผลให้ไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจปล่อยรถอัตโนมัติได้
2.ปัญหาการจัดการโลจิสติกส์ ถนนจากเวียดนามและจีนค่อนข้างเล็กแคบแต่มีสินค้าเข้าและออกมากโดยเฉพาะช่วงนี้ที่ผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนเข้าจีนเป็นจำนวนมากซึ่งมีปริมาณมากกว่าปีก่อนหน้าหลายเท่าตัวทำให้ช่วงสินค้าเข้ามากจะเข้าจุดรอคิวนี้ใช้เวลา 2 วันก่อนเข้าด่านจีน และ 3. การจัดพื้นที่การเดินรถในด่านโหย่วอี้กวนเอง ซึ่งมีเส้นทางเดินรถขาเข้าและออกอยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้รถที่ถูกสุ่มตรวจจากศุลกากรจีนต้องใช้เวลารอคิวเช่นกัน ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้นเบื้องต้น รัฐบาลท้องถิ่นเมืองผิงเสียงได้แก้ไขปัญหาโดยให้ใช้ระบบ manual แทนในบางช่วงเวลาในระหว่างที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ดีขึ้นรวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นได้ร่วมกับศุลกากรจัดอบรมการใช้ระบบใหม่ให้กับชิปปิ้งเพื่อกรอกข้อมูลให้ถูกต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อมูลไม่เชื่อมโยงกันซึ่งพบว่าปัญหาคลี่คลายในระดับหนึ่ง
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สำหรับการสุ่มตรวจผลไม้ไทยนั้นไม่ได้ถูกสุ่มตรวจเข้มงวดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจและเป็นข่าวว่าเป็นสาเหตุของปัญหาการจราจรติดขัดที่ด่านโหย่วอี้กวน ในข้อเท็จจริงแล้วสินค้าจะถูกสุ่มตรวจมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับประวัติการตรวจพบปัญหาของบริษัทนั้นๆ ส่วนกรณีการตรวจพบแมลงศัตรูพืชในทุเรียนไทยราว 1,000 ครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์เก่าที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดย กรมวิชาการเกษตร ได้จัดระบบควบคุมคุณภาพเข้มงวด รวมทั้งเร่งให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรขึ้นทะเบียน GMP และ GAP ซึ่งจีนพอใจในระบบควบคุมที่ไทยดำเนินการเนื่องจากผลการตรวจพบแมลงศัตรูพืชลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร ล้ง ผู้ประกอบการส่งออกทหรืออื่นๆ ให้ความสำคัญและเข้มงวดการควบคุมคุณภาพทุเรียนและผลไม้ต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดเป็นการรักษาและขยายตลาดส่งออกผลไม้ของไทย
“กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอกับจีนในการประชุมคณะกรรมการสุขอนามัยพืชไทย-จีนครั้งล่าสุดและการประชุมอื่นๆ เพื่อเปิดเส้นทางผลไม้ส่งออกจากไทยไปจีนผ่านเส้นทางบกเพิ่มขึ้น 2 เส้นทาง คือ เส้นทาง R12 และเส้นทางเข้าด่านตงซิง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มด่านส่งออกฝั่งไทย คือ นครพนมและเพิ่มด่านนำฝั่งจีนเข้าคือด่านตงซิงซึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการจัดทำและหารือรายละเอียดของพิธีสารก่อนลงนามต่อไปเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางตลาดส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในอนาคตอันใกล้นี้” นางสาวดุจเดือน กล่าว