เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ เส้นทาง กรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 โดยมีผู้บริหารการรถไฟฯ เจ้าหน้าที่ ประชาชน พร้อมสื่อมวลชนเข้าร่วมภายในงาน
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร
พร้อมกับเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเดินทางของรถไฟไทย ผ่านขบวนรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์แบบแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี และจะนำมาจัดเดินขบวนรถนำเที่ยวพิเศษใน 6 โอกาสพิเศษและวันสำคัญเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย
1. วันที่ 23 ตุลาคม 2564 วันปิยมหาราช
2. วันที่ 5 ธันวาคม 2564 วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ
3. วันที่ 26 มีนาคม 2565 วันสถาปนากิจการรถไฟ
4. วันที่ 3 มิถุนายน 2565 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
5. วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
6. วันที่ 12 สิงหาคม 2565 วันแม่แห่งชาติ
นายเอกรัชกล่าวว่า การรถไฟฯ คาดหวังการเปิดเดินขบวนรถพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยวจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวตามนโยบายของรัฐบาล ภายหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ และการแพร่ระบาดโรคโควิดเริ่มคลี่คลาย ซึ่งทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก และชุมชนให้กลับมามีความเข้มแข็งยั่งยืนอีกครั้ง
Youtube การรถไฟแห่งประเทศไทย OFFICIAL https://youtu.be/jxZmv5VruCo