วันที่26 กรกฎาคม 2565 เวลา 15.30 น. ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และ มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการลงนามในครั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการผลิตแพทย์ไปสู่ชนบทและชุมชนมากขึ้น อีกทั้งยังได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์ในเขตบริการสุขภาพที่ 9 ซึ่งมีโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นแกนหลักสำคัญ
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กับกระทรวงสาธารณสุข โดยมีโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นสถาบันร่วมผลิตในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการผลิตแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ภายใต้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเพื่อชุมชนที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากล
สำหรับแพทยศาสตรศึกษา (World Federation for MedicaI Education, Basic MedicaI Education WFME Global Standards for Quality lmprovement) นับเป็นก้าวสำคัญในการผลิตแพทย์เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยใช้ศักยภาพของสถาบันผลิตแพทย์ชั้นนำของประเทศ ผนวกกับศักยภาพของโรงพยาบาลศูนย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุขในการร่วมผลิต ความร่วมมือนี้จะเป็นการเสริมพลังให้กับการพัฒนาระบบสุขภาพของจังหวัดนครราชสีมาและเขตสุขภาพที่ 9 อันจะทำให้ก้าวไปสู่สุขภาวะของประชาชนที่ดีขึ้น และเป็นการนำร่องแนวทางในการร่วมผลิตแพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สร้างแพทย์ที่มีความเข้าใจในบริบทของท้องถิ่น และสามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน
ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจสำคัญในด้านการศึกษาที่จะผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตแพทย์ไปสู่โรงพยาบาล สถานพยาบาลต่าง ๆ
ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาโดยตลอด และจากแนวคิดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นและกระจายแพทย์ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (The Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor; CPIRD) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา
โดยคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ได้ร่วมผลักดันแนวคิดความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทขึ้น ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นความร่วมมือในการผลิตแพทย์มาอย่างยาวนาน จึงมีเจตจํานงอย่างแน่วแน่ที่จะร่วมมือกันในการผลิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และได้ทำการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นสถาบันร่วมผลิตเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ขึ้นเรียนรู้ในชั้นคลินิก และคงอัตลักษณ์ความเป็นแพทย์ CPIRD (The Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor) มาโดยตลอด
ประโยชน์จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญในการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพไปสู่สถานพยาบาลและโรงพยาบาลในชนบท/ชุมชน ในเขตบริการสุขภาพที่ 9 ซึ่งมีโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกับโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กระทรวงสาธารณสุข ในความร่วมสำคัญกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้ว
ยังทำให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ในชื่อ “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันร่วมผลิตแพทย์ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา” หรือ “หลักสูตร พ.บ.(รามาธิบดี-รพ.มหาราชนครราชสีมา)” โดยเปิดรับสมัครนักเรียนที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตสุขภาพที่ 9 (จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) จำนวนปีละ 48 คน
ซึ่งในการเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์และพรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1-3) จะเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนวิชาแพทยศาสตร์ทางคลินิกและเวชศาสตร์ชุมชน (ชั้นปีที่ 4-6) เรียนที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และได้ร่วมฝึกปฏิบัติทางคลินิกชุมชน (community hospital) ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์สุขภาพชุมชน จังหวัดนครราชสีมา และในโรงพยาบาลชุมชน เขตบริการสุขภาพที่ 9
ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ TCAS ของมหาวิทยาลัยมหิดล
#หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเพื่อชุมชน
#พ.บ.(รามาธิบดี-รพ.มหาราชนครราชสีมา