วธ.ร่วมรำลึก “90 ปี คีตสมัยครูอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ” ผู้มีคุณูปการต่อดนตรีไทย พร้อมชมผลงานเพลงไทยผ่านลูกศิษย์และเยาวชนรุ่นใหม่ กว่า 300 ชีวิต ที่ร่วมรักษา สืบสาน เอกลักษณ์ของชาติ
วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน 90 ปี คีตสมัยครูอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายสวิต ทับทิมศรี ประธานคณะกรรมการการจัดงาน ๙๐ ปี คีตสมัยครูอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ นางพิมพ์กาญจน์ ชัยจิตร์สกุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ดร.ยุพา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ให้ความสำคัญและสนับสนุนศิลปินแห่งชาติผู้เป็น ปูชนียบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เชี่ยวชาญในศิลปะแขนงใด แขนงหนึ่ง และได้อุทิศตนเพื่อรักษา สืบทอด สร้างสรรค์ พัฒนาศิลปะแขนงนั้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เรียนรู้และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ
โดยเฉพาะครูอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ ผู้มีคุณูปการต่อแวดวงดนตรีไทย อุทิศตนถ่ายทอดทักษะ ความรู้ด้านดนตรีไทยแก่ลูกศิษย์ด้วยความมุ่งมั่น เป็นคนดี มีเมตตา มีคุณธรรม ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง และเนื่องด้วยในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เป็นวันครบรอบ 90 ปี ชาติกาลของครูอุทัย แก้วละเอียด
วธ.จึงบูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการจัดงาน 90 ปี คีตสมัยครูอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ และหน่วยงานเอกชน จัดงาน “90 ปี คีตสมัยครูอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ” เพื่อแสดงความกตัญญุตา เผยแพร่ผลงานเพลงของครูอุทัย รวมถึงเพื่อให้ประชาชน และเยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของดนตรีไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติและร่วมกันรักษาสืบทอดต่อไป
ดร.ยุพา กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย
1. พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่คุณครูอุทัย แก้วละเอียด
2. การบรรเลงเพลงเชิดชูเกียรติครูอุทัย แก้วละเอียด โดยครูศิลปินอาวุโส
3. การแสดงผลงานเพลงของครูอุทัย แก้วละเอียด
โดยศิษยานุศิษย์ และนักเรียน นักศึกษา มากกว่า 300 ชีวิต อาทิ
1.เพลงโหมโรงมัธยมศึกษา วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
2.เพลงดอกไม้เหนือ เถา วงอังกะลุง โรงเรียนอนุบาลชุมชนบางบ่อ (ศุภพิพัฒน์รังสรรค์)
3.เพลงจีนขิมใหญ่ 2 ชั้น เดี่ยวขิมหมู่ โรงเรียนพระยาประเสริฐ สุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี)
4.เพลงเทพนฤมิตร เถา วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ โรงเรียนเทพศิรินทร์
5.เพลงโหมโรงจันทรเกษม / เดี่ยวระนาดเอก เพลงอาหนู วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ จันทรเกษม
6.เพลงอุศเรน เถา วงมโหรี วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
7..เพลงโหมโรงอักษรศาสตร์ วงมโหรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8.เพลงเดี่ยวลาวแพน ระนาดเอกหมู่ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9..เพลงแมลงภู่ทอง เถา วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ วงพิรุณรัตน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
10.เพลงเทพทอง เถา วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ วงคำหวาน
11.เพลงแสนอาลัย เถา วงเครื่องสายผสม วงบางขนาย (ศิษย์แพทย์ศิริราช)
12.เพลงจีนขิมใหญ่ 2 ชั้น เดี่ยวระนาดทุ้มหมู่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
13.เพลงอุศเรน เถา วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงไทยบรรเลง จังหวัดสมุทรสงคราม
ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมต่างๆได้ทาง 1765 สายด่วนกระทรวงวัฒนธรรม และสามารถรับชม Live สดผ่านเพจเฟซบุ๊กกระทรวงวัฒนธรรม https://www.facebook.com/ThaiMCulture